ถ้าเรานึกถึงปัญหาสังคม จะนึกถึงปัญหาอะไรกันบ้าง? การศึกษา ความยากจน อากาศเป็นพิษ สุขภาพจิต การเข้าถึงสิทธิและบริการสาธารณะต่างๆ ฯลฯ จริงอยู่ที่ปัญหาสังคมมีอยู่มากมาย แต่ไม่ว่าจะนึกถึงปัญหาอะไร จุดร่วมของปัญหาสังคมคือเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนหมู่มาก ทุกคนอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี สถานการณ์ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าคุณภาพชีวิตยังคงมีความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงโอกาสที่ไม่เท่ากัน บางคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีบ้านอยู่ มีโอกาสได้เรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัย ในขณะที่บางคนไม่มีแม้แต่ที่อยู่ ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเมื่อเจ็บป่วยก็ไม่มีเงินพอจ่ายค่ารักษา
แนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคือ การมีรัฐสวัสดิการ ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ารัฐสวัสดิการคืออะไร สถานการณ์ด้านสวัสดิการของประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร และมีช่องว่างหรือโอกาสอะไรบ้างที่เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้
รัฐสวัสดิการคืออะไร
รัฐสวัสดิการเป็นสวัสดิการที่ประชาชนทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกันและครอบคลุม โดยผู้ที่มีหน้าที่สร้างและดูแลสวัสดิการต่างๆ ก็คือรัฐนั่นเอง รัฐจะจัดหาสวัสดิการที่หลากหลายและครอบคลุมคนกลุ่มต่างๆ ตลอดช่วงชีวิตเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น สวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพ สวัสดิการด้านการคมนาคม สวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นต้น สวัสดิการจึงเป็น “บริการสาธารณะ” ที่ประชาชนของประเทศนั้นได้รับจากรัฐ ไม่ว่าจะรวยหรือจน อยู่ในชนชั้นไหนของสังคมก็จะได้รับสวัสดิการเหมือนกัน
ฐสวัสดิการที่มักจะได้รับการพูดถึงคือ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าของประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสวีเดน ประชาชนทุกคนจะได้เรียนฟรีจนถึงมหาวิทยาลัย คนที่ว่างงานจะได้เงินอุดหนุนระหว่างหางานใหม่เพื่อให้ดำรงชีวิตได้ โดยใน 200 วันแรกจะจ่าย 80% ของเงินเดือนเดิม และหากยังไม่ได้งานใหม่ภายใน 200 วันแรก จะจ่าย 70% ของเงินเดือนเดิมต่อให้อีก 100 วัน สำหรับชาวสวีเดนที่ยังอายุไม่เกิน 23 ปีสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจฟันได้ฟรี รวมทั้งมีระบบบริการสุขภาพที่จ่ายค่าแค่ 100-300 โครน (300-900 บาท) ต่อครั้ง[1] เป็นต้น และยังมีประเทศอื่นๆ ที่มีรัฐสวัสดิการ แต่รูปแบบจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
การมีรัฐสวัสดิการจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียมกันโดยเฉพาะคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน เมื่อทุกคนได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ทำให้ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้อง เมื่อคนมีโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน การพัฒนาประเทศก็ทำได้เร็วขึ้นและไปได้ไกล
สถานการณ์สวัสดิการของประเทศไทยในปัจจุบัน
ประเทศไทยมีประชาชนประมาณ 70 ล้านคน มีความหลากหลายทั้งฐานะ อายุ ระดับการศึกษา ที่อยู่อาศัย อาชีพ การใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งรัฐบาลจัดสวัสดิการโดยรวมให้ด้วยการออกนโยบายสวัสดิการสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับสวัสดิการจะต้องลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดหรือไม่ ถ้ามีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดจึงจะได้รับสวัสดิการ ในปัจจุบันมีสวัสดิการหลักๆ ในด้านต่างๆ ดังนี้
ด้าน | กลุ่มเป้าหมาย | นโยบายสวัสดิการ [2] |
เด็กเล็กและครอบครัว | เด็กแรกเกิด-อายุ 6 ปี | โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด– ให้เฉพาะครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/ปี- ครอบครัวได้รับเงินอุดหนุนในการเลี้ยงดูเด็ก 600 บาท/คน/เดือน |
ความยากจน | ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง | บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ– ได้รับเงินเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 200-300 บาท/คน/เดือน และเงินค่าเดินทางรวม 1,500 บาท/คน/เดือน – ได้รับเงินเยียวยาจากนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ |
การศึกษา | เด็กในวัยเรียน | นโยบายเรียนฟรีอนุบาล-ม.3– เด็กในวัยเรียนได้เรียนฟรีจนจบชั้นมัธยมต้น |
สุขภาพ | ผู้ที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการหรือประกันสังคม | ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง 30 บาท)– ได้รับบริการทางสุขภาพ เช่น การป้องกันโรค การตรวจ การรักษา การฟื้นฟูสุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย |
ผู้พิการ | ผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ | เบี้ยยังชีพผู้พิการ– ได้รับเบี้ยยังชีพผู้พิการ 1,000 บาท/คน/เดือน |
ผู้สูงอายุ | ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป | เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได– ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท/คน/เดือน (ตามอายุ) |
ประกันสังคม | ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบ | กองทุนประกันสังคม– ได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไข เช่น การรักษาพยาบาล การทดแทนรายได้เมื่อว่างงาน สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองเมื่อเสียชีวิต ทุพพลภาพ ชราภาพ เป็นต้น |
เมื่อเปรียบเทียบสวัสดิการของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีสวัสดิการตามกฎหมายครบทุกด้านเหมือนกับประเทศเวียดนามและประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ในขณะที่บางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีสวัสดิการไม่ครบถ้วน สวัสดิการบางด้านมีจำกัด หรือไม่มีเลย เช่น สวัสดิการด้านเด็กเล็กและครอบครัวยังไม่มีในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย[3] นอกจากนี้ประเทศไทยมีสวัสดิการที่โดดเด่นคือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้ทั่วถึง และถ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายก็เสียน้อยมาก ระบบสุขภาพของประเทศไทยจึงมีคุณภาพดีติดอันดับ 6 จาก 89 ประเทศทั่วโลก[4]
สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง มีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ 9.95% ของ GDP เมื่อเทียบกันแล้วยังน้อยกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงประเทศอื่นๆ ที่มีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสูงกว่า อยู่ที่ 11.22% ของ GDP ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 21.98% ของ GDP[5]
ช่องว่างสวัสดิการของประเทศไทย
ประเทศไทยดูเหมือนจะมีสวัสดิการครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้วก็จริง แต่ในความเป็นจริงยังมีประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้ ยังมีคนที่ตกหล่นจากการได้รับสวัสดิการ หรือแม้จะได้รับสวัสดิการแต่ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต จึงยังมีช่องว่างอีกมากที่สามารถพัฒนาและสนับสนุนเพิ่มเติมได้เพื่อให้สวัสดิการมีคุณภาพดีขึ้น
- สวัสดิการไม่มีความต่อเนื่อง
สวัสดิการที่มีอยู่ในประเทศไทยมาจากนโยบายสวัสดิการ ซึ่งมักจะเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งที่เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วนโยบายนั้นอาจจะไม่ได้ทำต่อหรือมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การให้สวัสดิการ เช่น นโยบายรถเมล์และรถไฟฟรีเคยเป็นนโยบายให้ประชาชนทุกคนแบบถ้วนหน้าตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ยกเลิกในปีพ.ศ. 2558 จากเดิมที่ทุกคนใช้บริการได้เปลี่ยนเป็นให้ผู้ที่ใช้รถเมล์และรถไฟฟรีได้ต้องเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น โดยคนกลุ่มนี้ได้รับเงินค่าเดินทางเป็นค่ารถเมล์ MRT และ BTS รวมกัน 500 บาท รถ บขส. 500 บาท และรถไฟ 500 บาท/คน/เดือน (ธันวาคม 2563)[6]
- สวัสดิการไม่ถ้วนหน้า
สวัสดิการในปัจจุบันไม่ครอบคลุมทุกคน เป็นการจัดสรรให้เฉพาะกลุ่มคนที่รัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องได้รับสวัสดิการโดยมีการกำหนดคุณสมบัติเพื่อคัดกรอง เช่น ผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องเป็นบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี [7] ผู้ที่ได้รับเบี้ยผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ เป็นต้น การกำหนดคุณสมบัติจึงทำให้คนที่มีความจำเป็นต้องได้รับสวัสดิการแต่ไม่ได้มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดตกหล่นจากการได้รับสวัสดิการ
- มีข้อจำกัดในการเข้าถึง
การรับรู้ข่าวสารสวัสดิการ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ในการรับสวัสดิการอย่างการดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อลงทะเบียน และการตรวจสอบสิทธิต้องใช้อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟน กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้จึงอาจจะไม่รู้ข่าวสาร หรือไม่สามารถลงทะเบียนได้แม้ว่าจะมีหน่วยงานรับลงทะเบียนก็ตาม จึงตกหล่นจากการได้รับสวัสดิการ นอกจากนี้การลงทะเบียนยังต้องใช้เอกสารหลายฉบับ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หากไม่มีเอกสารเหล่านี้จะไม่สามารถลงทะเบียนได้
- โครงสร้างพื้นฐานไม่รองรับการใช้ชีวิตแม้มีสวัสดิการอยู่
แม้จะมีสวัสดิการสำหรับกลุ่มคนที่มีความจำเป็น แต่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคมกลับไม่สะดวกพอให้กลุ่มคนไปใช้สิทธิที่มีตามสวัสดิการได้ เช่น ผู้พิการมีสวัสดิการเรียนฟรีจนจบมหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงแล้วมีผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่เดินทางไปเรียนไม่ได้เพราะใช้ระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้ ฟุตบาทไม่เรียบพอให้เข็นรถเข็น หรือสถานที่ที่ไปเรียนไม่ได้ออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้รถเข็น ทำให้เขาไปเรียนไม่ได้แม้ว่าจะมีสวัสดิการเรียนฟรีอยู่ก็ตาม
- เงินจากสวัสดิการไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต
ในปี 2562 พบว่าระดับเส้นความยากจน (ระดับรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในประเทศนั้นๆ) อยู่ที่ 2,763 บาท/คน/เดือน นั่นหมายความว่าถ้าจะใช้ชีวิตให้อยู่ได้ 1 เดือนในประเทศไทยต้องใช้เงินประมาณ 3,000 บาท[8] แต่เงินที่ได้จากสวัสดิการกลับมีน้อยกว่ามาก เช่นผู้พิการได้รับเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท/เดือน[9] ส่วนผู้สูงอายุได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเริ่มต้นที่ 600 บาท/เดือน[10] เงินที่ได้จากสวัสดิการจึงยังไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตจริงๆ
- ภาครัฐขาดฐานข้อมูลประชาชนอย่างเป็นระบบ
ในการจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชน รัฐบาลจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนที่ครบถ้วน เป็นระบบ และมีการอัปเดตสม่ำเสมอเพื่อให้จัดสรรสวัสดิการได้เหมาะสมและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนที่มีอยู่ในปัจจุบันกระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ ไม่เป็นระบบ ข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้ตรวจสอบข้อมูลยาก เช่น ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยไม่ครบถ้วนและไม่ได้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ คือไม่ได้เป็นคนยากจนได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปด้วย[11]
หลังจากที่เราเห็นภาพรวมสถานการณ์และช่องว่างด้านสวัสดิการของประเทศไทยไปแล้ว ในตอนที่ 2 เราจะมาเจาะลึกกันว่ารัฐสวัสดิการเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมอย่างไร มีตัวอย่างการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง และมีโอกาสและช่องว่างอะไรบ้างสำหรับนักสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
อ้างอิง
[1] เกตน์สิรี ทศพลไพศาล. (2562). รัฐสวัสดิการสวีเดน ความอุ่นใจในชีวิต ที่ช่วยให้คนผลักดันประเทศไปข้างหน้า. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/sweden-welfare-tax/
[2] สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2563). รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2562. สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10857&filename=social
[3] OECD. (2020). OECD ECONOMIC SURVEYS: THAILAND 2020. Retrieved from www.oecd.org/economy/thailand-economic-snapshot/
[4] OECD. (2020). OECD ECONOMIC SURVEYS: THAILAND 2020. Retrieved from www.oecd.org/economy/thailand-economic-snapshot/
[5] เดชรัต สุขกำเนิด. เสวนาหัวข้อ “ระบบการคลังเพื่อรองรับระบบสวัสดิการสังคม” ในงานมหกรรม ‘รัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสดิการ’ 29 พ.ย. 2563
[6] ไทยรัฐออนไลน์. (2563). บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือน ธ.ค. เงินเข้าหลายเด้ง ได้รับสิทธิ์เพียบ. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/business/1987213
[7] ฐานเศรษฐกิจ. (2563). เปิดคุณสมบัติเบื้องต้น ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ. สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/content/normal_news/458483
[8]สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2563). รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2562. สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10857&filename=social
[9] กองบรรณาธิการ THISABLE.ME. (2563). สภาคนพิการฯ ยื่นหนังสือเรียกร้องเบี้ยคนพิการถ้วนหน้า ชี้เป็นสวัสดิการพื้นฐานตามสิทธิ. สืบค้นจาก https://thisable.me/content/2020/10/664
[10] สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2563). รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2562. สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10857&filename=social
[11] สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2563). รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2562. สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10857&filename=social
- กองบรรณาธิการ THISABLE.ME. (2563). ประมวลม็อบคนพิการ 10 ธันวา ชี้รัฐต้องสนับสนุนอาชีพ-รัฐสวัสดิการ-แก้รัฐธรรมนูญ. สืบค้นจาก https://thisable.me/content/2020/12/675
- พงศ์พิชญ์ พิณสาย. (2562). มองรัฐสวัสดิการผ่านเงินบำนาญของประเทศต่างๆ สืบค้นจาก https://themomentum.co/pension-and-happiness/
- workpointTODAY. (2563). ภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาล อุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปีแบบถ้วนหน้า. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/child-support-grant/