School of Changemakers ร่วมกับ TK Park จัดกิจกรรม Systems Thinking Workshop: tool for environment ที่เป็นวิธีคิดที่ทำให้เข้าใจภาพรวมของปัญหาหรือระบบที่เราสนใจ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้การคิดกระบวนระบบ และสนใจริเริ่มโปรเจกต์และกิจการเพื่อสังคม มีเครื่องมือในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโจทย์ของกิจกรรมในวันนี้จะเน้นหนักไปทางด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ความหมายของ Systems Thinking หรือการคิดเชิงกระบวนระบบ ซึ่งทำให้เห็นความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันของแต่ละสิ่ง เห็นเหตุและผลที่เกิดขึ้นภายในระบบหรือปัญหานั้น ๆ เป็นวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ที่ใช้เครื่องมือนี้เข้าใจความซับซ้อนที่เกิดขึ้นภายใต้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับ Iceberg Model แล้วก็จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงด้วยทรัพยากรที่น้อยลง และให้ผลลัพธ์ที่มากกว่า
หลังจากนั้น เข้าสู่ช่วงการนำ Systems Thinking มาทดลองใช้แก้ปัญหา โดยให้แบ่งกลุ่มตามความสนใจตามหัวข้อด้านสิ่งแวดล้อม 3 หัวข้อ ซึ่งรวบรวมมาจากผลโหวตการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่คนกทม. ต้องการมากที่สุดในปี 2565 ได้แก่
- ปัญหาด้านขยะ
- พื้นที่สีเขียว
- ปัญหาฝุ่น PM 2.5
เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มย่อยแล้ว จึงให้ทุกคนมีโอกาสแลกเปลี่ยนหัวข้อที่ตนสนใจ เพื่อให้สามารถจับคู่กับคนที่สนใจหัวข้อคล้าย ๆ กันเพื่อกันตั้ง SMART Goal ที่จะช่วยให้เห็นเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน และเป็นไปได้จริงมากขึ้น
โดย SMART Goal ประกอบไปด้วย
S = Specific มีความเฉพาะเจาะจง และเห็นภาพได้ชัดเจน
M = Measured สามารถวัดได้ มีตัวชี้วัดที่จับต้องได้
A = Achievable สามารถเป็นจริงได้ ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป
R = Relevant สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่ต้องการ
T = Timely มีขอบเขตระยะเวลาในการทำงานอย่างชัดเจน
หลังจากตั้ง SMART goal ได้แล้ว จึงเข้าสู่การวิเคราะห์พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการเขียน Behavior-Over-Time graph ที่ทำให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจากข้อมูลที่มีและช่วยทำนายเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากไม่ถูกเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการวิเคราะห์สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหากสามารถแก้ปัญหานั้น ๆ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ลำดับต่อไป จึงนำหัวข้อปัญหารวมกับกราฟที่วาดมาวิเคราะห์ต้นเหตุของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ลิสต์ออกมาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เราสนใจในอดีต หรือปัจจัยที่ทำให้ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัญหา ก่อนจะนำลิสต์ที่ได้มาปรับให้เป็นตัวแปร สามารถนับได้ และเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ เพื่อให้สามารถนำไปสร้างแผนภาพความสัมพันธ์ของตัวเแปรต่างๆ ได้
เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของกิจกรรม สาเหตุต่าง ๆ ที่แต่ละคู่ได้เขียนออกมา จะถูกนำไปทำเป็น Diagram ที่ชื่อว่า Causal loop ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของปัจจัยมากมายใที่ซ่อนอยู่ใต้ปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้เข้าใจความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดผลต่อกันไปเป็นระบบ
เมื่อได้ออกมาเป็นแผนภาพ Causal loop ก็จะทำให้เห็นจุดที่แก้ได้ด้วยกำลัง ทรัพยากร และเวลาที่มี โดยให้ผลลัพธ์ที่จะแก้ปัญหาทั้งระบบ ก่อนจะจบกิจกรรมในวันนี้ด้วยการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้ และ Reflect กิจกรรม
ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกๆ ท่านที่มาร่วมพบปะ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ไปด้วยกันในกิจกรรมครั้งนี้
และฝากติดตามข้อมูลกิจกรรม Changemakers Club ครั้งถัดไป ที่ Facebook: School of Changemakers ด้วยนะคะ
อ่านกิจกรรม CM club ในปี 2024 อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่…