17 Jun 2023 | สรุปกิจกรรม Learning by Playing ร่วมวงฟังประสบการณ์การสร้างการเรียนรู้ผ่านการ “เล่น” ของพื้นที่เรียนรู้

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00-15.00 น. ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

School of Changemakers ร่วมกับ TK Park จัดวงเสวนาในหัวข้อ “ประสบการณ์การสร้างการเรียนรู้ผ่านการเล่น” โดยมีวิทยากร 3 ท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดและประสบการณ์ ได้แก่

image
  1. พี่ตุ้ม - อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง 'Feel Trip' พื้นที่เรียนรู้ที่เชื่อว่า เราทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์
  2. ป้าโก้ - สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ ผู้ก่อตั้ง 'บ้านไร่อุทัยยิ้ม' พื้นที่เรียนรู้ที่ให้ชุมชน วัฒนธรรมและป่าเป็นทุนของการเรียนรู้
  3. ครูต้น - นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาที่ 'มีรักคลินิก' คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น

ประเด็นการพูดคุยเริ่มต้นจากการเล่าสถานการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่วิทยากรแต่ละท่านทำงานด้วย

ป้าโก้: ทำงานร่วมกับเด็กชาติพันธุ์ ลาว ขมุ กะเหรี่ยง ในพื้นที่ชายป่าห้วยขาแข้ง เด็กกลุ่มนี้มักถูกสังคมภายนอกกดทับ ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่รู้จักและภูมิใจในวัฒนธรรมของตน

พี่ตุ้ม: ทำงานร่วมกับเด็กหลากหลายกลุ่ม แต่ปัญหาที่พบร่วมกันคือ เด็กไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับชุมชน ส่งผลให้เด็กๆ เหล่านี้หาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าชอบอะไร อยากทำอะไร

ครูต้น: ทำงานดูแลเด็ก 2 กลุ่มเป็นหลัก กลุ่มแรกคือเด็กที่มีความเจ็บป่วย ด้านพัฒนาการและจิตใจ งานอีกส่วนหนึ่งคือ การสร้างบทความทางสุขภาพจิต เพื่อให้วัยรุ่นมองเรื่องจิตใจให้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นสิทธิที่เด็กควรจะเข้าใจว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สบายใจ เขาควรได้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คืออะไร

เมื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจเด็กๆ ที่ทำงานด้วยแล้ว แต่ละท่านนำความต้องการ ข้อจำกัด หรือความท้าทายของเด็กๆ มาออกแบบกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง

ป้าโก้: กระบวนการที่ ‘บ้านไร่อุทัยยิ้ม’ เริ่มจากการปลุกเด็กให้ตื่นจากสิ่งที่เขาไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าพื้นที่ของตัวเอง ทั้งวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น การให้รู้จักและเข้าใจประเพณีแต่ละฤดูกาล ที่มาที่ไปของการอาหาร/ขนมที่ทาน หลังจากนั้น พาเด็กคิดวิเคราะห์ และออกแบบร่วม คิดร่วม ทำร่วม เราไม่ได้ไปสอนเด็ก แต่เราเป็นโค้ชให้เกิดการเรียนรู้ร่วม เริ่มจากที่เด็กอยากเรียนรู้อะไร เช่น ทดลองทำอาหารที่ทานกันที่บ้าน ด้วยวัตถุดิบรอบๆ ตัว มาลองทำเล่นกัน แล้วไปสัมภาษณ์หาความรู้เพิ่มเติมจากครูภูมิปัญญาเกี่ยวกับอาหาร ทำให้เด็กๆ รู้กระบวนการว่า เมื่ออยากรู้อะไร ต้องทำอย่างไรบ้าง กระบวนการก็จะวนซ้ำๆ ไปแบบนี้ หลังจากลงมือทำแล้ว ก็จะสะท้อน แล้วถ่ายทอดด้วย จากเป็นผู้รับ กลายเป็นผู้ให้โดยไม่รู้ตัว รู้จักตัวเองโดยไม่รู้ตัว ผลลัพธ์ขยายไปสู่ผู้ใหญ่ พ่อแม่เด็กเห็นสิ่งที่เด็กถ่ายทอดให้คนอื่น แล้วเห็นว่าดีมีประโยชน์ ก็นำไปทำต่อในหลายๆ ชุมชน

พี่ตุ้ม: ‘Feel Trip’ ทำงานกับคนรุ่นใหม่ พยายามเปิดพื้นที่ที่ปลอดภัยพอ ให้โอกาสเด็กๆ เอาความคิดเห็นโยนเข้ามาแล้วมาเขย่าด้วยกัน สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย แล้วมาดูว่าความคิดไอเดียของเขามันจะถูกทำงานแบบไหน อยากทำงานกับใครบ้าง พอทุกคนเริ่มเห็นทิศทางชัดเจน แล้วก็เอาโจทย์นี้ไปทำงานในพื้นที่ตัวเอง บางคนก็เป็นครูในโรงเรียน บางคนเป็นครูชุมชน บางคนกลับไปอยู่ในธุรกิจของครอบครัว ก็ไปสร้างพื้นที่การเรียนรู้ต่อ

เบื้องต้น เราคืนอำนาจของการออกแบบการเรียนรู้ให้ บนความเชื่อและความไว้วางใจว่าคุณเป็นเจ้าของมัน เมื่อเป็นเจ้าของมันได้แปลว่ารู้สึกปลอดภัยพอ จะเริ่มมีไอเดียบางอย่างและไอเดียนี้มันจะไปสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย ไปทำงานกับ อบต. รพสต. ฯลฯ ทำให้เป็นว่าพื้นที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตของเรา มันคือเมือง ชุมชน สังคม และมันเล่นได้ เพราะอยู่บนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นผู้คนก็จะเอาไอเดียสนุกๆ โยนลงไป เด็กๆ ก็ได้ทำอะไรกับพี่ๆ คนรุ่นใหม่ กับคนในชุมชน ช่องว่างระหว่างวัยก็ถูกอุดด้วยความสัมพันธ์บางอย่าง เกิดการเขย่าไอเดียหลากหลายและเกิดเป็นตัวโปรเจกต์ต่างๆ

ตัวอย่างโปรเจกต์ในเครือข่ายของ Feel Trip

image

ครูต้น: กระบวนของนักจิตวิทยาแบ่งออกหลักๆ เป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. Intervention: รับเด็กเข้ามาตอนที่เด็กเจ็บป่วยแล้ว ในการบวนการการเรียนรู้ เราไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ที่สูงกว่าเหนือกว่า แล้วบอกเด็กว่าเด็กควรต้องเปลี่ยนแปลง กระบวรการในการเรียนรู้ร่วมกัน เราจะชวนให้เขาเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาของตัวเอง และเขารับรู้ได้ก่อนว่านี่กำลังเป็นปัญหาถ้ายังไม่แก้ตอนนี้อาจจะส่งผลกับตัวเองในอนาคต กระบวนการนี้เรียกว่า motivation interview คือการใช้คำถาม เพื่อชวนให้เด็กคิดว่าถ้าปัญหานี้ยังเกิดอยู่จะเกิดอะไรขึ้นกับเขาในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องอารมณ์หรือสังคม แล้วจึงชวนฝึกต่อกระบวนการทักษะสังคม หรือจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมบ้าง ซึ่งต้องใช้การมีส่วนร่วมของเด็ก ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้ความเป็นผู้ใหญ่เข้าไปบอกเด็กว่าสิ่งนี้เจ็บป่วยต้องแก้ไข จะเกิดความสับสนไม่แน่ใจและเกิดแรงต้าน เกิดความไม่ร่วมมือกันตั้งแต่ต้น เขาถูกคนในสังคมถูกบอกว่าต้องเปลี่ยน แต่เขาไม่มีสิทธิในการคิดว่าเขาจะต้องเปลี่ยนด้วยตัวเอง ดังนั้นกระบวนการมันต้อง ช้าลงและเห็นประโยชน์
  2. Prevention: การป้องกันปัญหาด้านจิตใจในอนาคต แม้ว่าผู้ใหญ่จะเป็นคนช่วยคิดว่าแผนคืออะไร เราคิดจากเครื่องมือที่เราเจอมาก่อน และจากข้อมูลจากเด็กรุ่นพี่ว่ากระบวนการอะไรจะมีประโยชน์ เช่น เรารู้ว่าใน โรงเรียนทั่วไป สำหรับนักเรียนม.1 คือ การปรับตัว รู้จักโลกภายในของตัวเอง ม.2 คือ ฝึกทักษะการปฏิเสธ และม.3 คือ กระบวนการตัดสินใจ

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะ Intervention หรือ prevention เราต้องการความร่วมมือจากเด็ก ทำให้เครื่องมือเป็นของเด็กจริงๆ ไม่ใช่เป็นของผู้ใหญ่

image

พื้นที่เรียนรู้ทั้ง 2 ที่ รวมถึงครูต้นเองก็ให้ความสำคัญกับ “การมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้” ของเด็กและเยาวชน คำถามสำคัญต่อไปคือ สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไร และส่งผลดีกับเด็กๆ อย่างไรบ้าง

ครูต้น: การให้เด็กมีส่วนร่วม (Self-determination) คือการกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็อยากจะไปต่อในชีวิตตัวเอง แบบไม่ล่องลอย ทุกคนอยากดีขึ้น แต่ต้องเห็นให้ชัดเจนก่อนว่า ดีขึ้นหน้าตาเป็นยังไง สิ่งที่ต้องมีก็คือ 1. Competency ต้องตั้งเป้าหมายก่อนว่า เราอยากดีขึ้นอย่างไร เห็นภาพให้ชัดเจน 2. Autonomy มีอิสระในการดีขึ้นด้วยตัวเอง เพราะถ้าคนอื่นบอกให้เราดี มันมักจะมีความคิดกับตัวเองว่าฉันไม่ดี อารมณ์หรือพลังงานที่อยากดีขึ้น มันจะยาก 3. Relationship คนในสังคม บ้าน เพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง ชุมชน ให้การสนับสนุนในรูปแบบความรู้ที่จะพุ่งตรงไป และความเคารพในอิสระของการเรียนรู้ของตนเอง

3 สิ่งนี้แยกขาดจากกันไม่ได้ ซึ่งถ้าเด็กได้เรียนรู้ด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างนี้ เขาจะได้โตขึ้นทั้งในแง่ของการเรียนรู้ และการเคารพยอมรับตัวเอง รวมทั้งมีเพื่อนร่วมทางเป็น ครอบครัว ชุมชน และสังคม

ป้าโก้: เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง ความคิดเปลี่ยน จากเดิมไม่ภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ เพราะถูกตราหน้าว่าเป็นคนด้อยโอกาส แต่จริงๆ แล้วขาดโอกาส โอกาสไปไม่ถึงเขา แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า เขามีคุณค่า มีความงาม มีความรักในความเป็นชาติพันธุ์ตัวเอง รักในท้องถิ่นตัวเอง เขาเห็นว่า เขามีดีกว่าเด็กเมืองด้วยซ้ำ เด็กเมืองไม่รู้จักพืชหรือต้นไม้แบบนี้ ไม่มีอากาศที่บริสุทธิ์ ไม่มีของเล่นที่ทำจากธรรมชาติ ไม่มีอาหารที่ไม่ใส่ผงชูรส แต่เขามีสิ่งเหล่านี้มาตลอดชีวิต นอกจากนี้ เขายังเห็นความงามที่มีอยู่ในชุมชนมากขึ้น งามทั้งผู้คน ทั้งธรรมชาติ ซึ่งเขาวิ่งเล่นมาตั้งแต่เกิด ทั้งวัฒนธรรมที่ถูกกลบ ก็รื้อฟื้นขึ้นมา ส่งต่อให้คนอื่นๆ ได้เห็นความหมาย เป็นการเอาสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติมาสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน สุดท้ายคือ ชุมชนก็เปลี่ยนด้วย มันเกิดการเชื่อมต่อระหว่างกัน เกิดความภาคภูมิใจ ชุมชนสามารถเอาเรื่องเหล่านี้มาสร้างรายได้ สร้างศักดิ์ศรีให้กับคนในชุมชนได้จริง

พี่ตุ้ม: เราเห็นพฤติกรรมเด็กที่เปลี่ยนไป จากเดิมก้มหน้าหลบตาต่ำ ไม่สามารถตอบอะไรได้เลย แต่ตอนนี้ตาเป็นประกาย สามารถถ่ายทอด บอกเล่า ได้อย่างมั่นใจ ความคิดก็เปลี่ยน ไม่ได้คิดว่าการเรียนรู้จะอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้นอีกต่อไป เขามองโลกของการเรียนรู้กว้างขึ้น ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง มีวิธีการเข้าถึงความรู้ด้วยตัวเอง ความเชื่อก็เปลี่ยน เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจ นอกจากนี้ เด็กๆ มีพัฒนาการทางทักษะการเรียนรู้ เมื่อเราให้เริ่มต้นจากความชอบ ความถนัด ทำยังไงให้เกิดกระบวนการที่เอาความชอบของเด็กๆ ทุกคน มารวมเป็นกิจกรรม พอเห็นงานของตัวเองปรากฏขึ้น มีความภูมิใจ อยากพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงของเด็กส่งผลให้สิ่งอื่นๆ เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจชุมชนเปลี่ยน กิจกรรมสร้างรายได้ เกิดเป็นกองทุน ระบบสวัสดิการของกลุ่ม ดูแลกันและกันได้ และโครงสร้างความสัมพันธ์ก็เปลี่ยน ความสัมพันธ์แบบเดิมที่เด็กๆ ไม่มีเสียง ก็กลายเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วม อำนาจของเด็ก เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ ทำให้ทุกคนในชุมชนเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนในการพัฒนาชุมชน

คำถามสุดท้าย ความท้าทายในการทำงานที่เคยเผชิญ 1 ความท้าทาย และวิธีการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหา

ป้าโก้: การทำยังไงให้คนรุ่นใหม่ในชุมชน ลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง จัดการพื้นที่ตัวเอง โดยไม่ต้องขอ รอหน่วยงานรัฐ ตอนนี้เรามีการทดลองอยู่ คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกะเหรี่ยงตั้งคำถามว่าทำยังไงที่จะไม่ให้ความเป็นกระเหรี่ยงหายไปจากการท่องเที่ยวเลยเปิดครัวกระเหรี่ยงจากการสืบค้นเมนูของกระเหรี่ยงได้มา 15 เมนู และลองทำ ลองสืบสาน และพบโอกาสว่ามันตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ เพราะการปรุงอาหารของกระเหรี่ยงไม่ใช้ซอสเลย ใช้แค่เกลือ ความนัวความกลมกล่อมมาจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ตามฤดูกาล พื้นที่การเรียนรู้เรื่องครัวกระเหรี่ยงจะทำให้เกิดอาชีพและส่งต่อการเรียนรู้ให้รุ่นต่อไป ความท้าทายคือจะทำยังไงให้โครงการแบบนี้ไปให้รอด ให้อยู่ได้จริงๆ

พี่ตุ้ม ต่อจากของป้าโก้ คือ นอกจากจะทำให้อยู่ร่วมอยู่รอดด้วยกันได้ มีอำนาจในการจัดการจริงๆ แล้ว ความเปลี่ยนแปลงคือความท้าทาย ทำอย่างไรให้เราเท่าทันความเปลี่ยนแปลง ต้องปลูกฝังความยืดหยุ่น resilience skill ที่ผ่านมากระบวนการนอกจากจะเป็นฐานมือ ฐานทำ เราก็ทำงานกับฐานใจด้วย การทำให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ของการรับฟัง เราพบว่าในวันธรรมดาเมื่อเด็กๆ กลับเข้าสังคมโรงเรียน ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้โอบอุ้มเขา แต่เมื่อเขากลับมาบ้านเขายังรู้ว่ามีคนบางกลุ่มที่ยังคุยกับเขาได้ เป็นความสัมพันธ์ที่มีอยู่ต่อเนื่องและยังเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกคนเท่าทั้นความเปลี่ยนแปลง รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ ล้มได้แต่ต้องลุกขึ้น ถ้าจะพังก็พังได้ แต่เป็นความพังที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงด้วย

ครูต้น: เรามีเครื่องมือผ่านการเล่นเยอะ แต่ความท้าทายที่เด็กจะเข้ามาสู่กระบวนการบำบัด คือ ความคิดและทัศนคติของผู้ใหญ่ที่มีต่อเรื่องของข้อจำกัด ในมุมของนักบำบัด เราเรียกชื่อโรคเพราะเวลาเราส่งต่อเคสให้กันเราไม่ต้องอธิบายเยอะ แต่ด้วยชื่อโรคนี้ มันทำให้ผู้ใหญ่เวลาพาเด็กๆ เข้ามาสู่กระบวนการช่วยเหลือผ่านการเล่น กลับเป็นเรื่องยาก อยากทำความเข้าใจว่าทุกคนป่วยได้ ดังนั้นใจความสำคัญคือ การไปสู่ How ทำยังไงให้เด็กคนนั้น อยู่กับทักษะจำกัดนั้นอย่างพัฒนา How ทำยังไงให้เขาทนอยู่กับความทุกข์นนี้ได้มากขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่ถ้าผู้ใหญ่จะมีทัศนคติที่บิดเบือนกับความเจ็บป่วย เพราะเชื่อว่าความเจ็บป่วยคือความอ่อแอ และเขาถูกขีดเส้นออกจากคนทั่วไป ในขณะที่จริงๆ ความเจ็บป่วยมันปะปนอยู่ในพวกเราทุกคนตลอดเวลา ดังนั้นการเล่นมันเข้าถึงทุกคนได้ ทั้งเจ็บป่วยและไม่เจ็บป่วย ถ้าเรารู้เส้นนี้ เราลดการไปสู่การตัดสิน จะนำไปสู่การช่วยเหลือว่าจะทำยังไงให้เด็กมีความสุขมากขึ้น

เมื่อจบวงเสวนา ก็เข้าสู่ Workshop กิจกรรมจากพื้นที่เรียนรู้ทั้ง 2 แห่ง แบ่งออกเป็น

  • Workshop ยาหม่องอาบป่าห้วยขาแข้ง จากบ้านไร่อุทัยยิ้ม สอนวิธีการทำยาหม่องจากสมุนไพรในป่าห้วยขาแข้งที่จะมีความเข้มข้นมากกว่าสูตรอื่นๆ
image
  • Workshop ทำว่าวใบไม้และภาพวาดจากสีธรรมชาติ นำโดยน้องๆ จากชุมชนหัวตะเข้ ในเครือข่ายของ Feel Trip
image

เมื่อผู้เข้าร่วมได้มีสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือกลับบ้าน ก็ถึงเวลาจบกิจกรรม Learning by Playing ร่วมวงฟังประสบการณ์การสร้างการเรียนรู้ผ่านการ “เล่น” ของพื้นที่เรียนรู้

ขอบคุณพี่ๆ น้องๆ นักเปลี่ยนแปลงทุกท่านที่มาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนไปด้วยกัน

Changemakers Club ครั้งถัดไปเราจะจัดในวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 โปรดติดตามรายละเอียดทาง Facebook Page: School of Changemakers หรือ Instagram: @schoolofchangemakers

image
image

อ่านกิจกรรม CM club ในปี 2023 อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่…

11 Nov 2023 | สรุปกิจกรรม Social Enterprise Business Clinic อาสาให้คำปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับกิจการเพื่อสังคม
CMClub
21 Oct 2023 | สรุปกิจกรรม Making Change with Business Ideas พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมจากมุมมองภาคธุรกิจ
CMClub
เข้าร่วมกิจกรรมประจำเดือนกันยายน: Prototype Testing Learning Space
CMClubLearningSpace
19 Aug 2023 | สรุปกิจกรรม Event: Prototype Try-Out ทดสอบต้นแบบการแก้ไขปัญหาโดยเยาวชนนักสร้างการเปลี่ยนแปลง
CMClub
เข้าร่วมกิจกรรม Event: ทดลองไอเดียสร้างความยั่งยืนพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน (Prototype Testing Learning Space)
CMClub
17 Jun 2023 | สรุปกิจกรรม Learning by Playing ร่วมวงฟังประสบการณ์การสร้างการเรียนรู้ผ่านการ “เล่น” ของพื้นที่เรียนรู้
CMClub
18 Mar 2023 | สรุปกิจกรรม Workshop: Coach for Change อบรมการเป็นโค้ชสำหรับนักสร้างการเปลี่ยนแปลง
CMClub
18 Feb 2023 | สรุปกิจกรรม Workshop: Nurturing Changemakers การสอนทักษะชีวิตให้เยาวชนผ่านการทำโปรเจกต์เพื่อสังคม
CMClub
Changemakers Club 2023
CMClub