Assumption Mapping คืออะไร
หลังจากที่เราได้ผ่านขั้นตอนการศึกษาปัญหา ไปจนสร้างสรรค์ไอเดียออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไป เราจึงควรทดสอบไอเดียนั้นๆ แบบเร็วๆ ลงทุนน้อยๆ กันก่อน เพราะปัญหาสังคมนั้นซับซ้อน หนึ่งปัญหาอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยไอเดียเดียว อาจจะต้องทำหลายอย่างและใช้เวลานานกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและยั่งยืน และด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินทุน หรือแรงของเราเอง ก่อนที่เราจะกระโดดลงไปทำนั้น เรามาหยุดทบทวนกันสักนิด ว่า เป้าหมายและสมมติฐานที่เลือกจะเป็น “จุดตั้งต้น” ในการทดสอบไอเดียของเรา ผลการทดสอบไอเดียจะบ่งชี้แน่ชัดว่า ไอเดียที่เรากำลังจะลองทำ เราต้องการเรียนรู้หรือพิสูจน์สมมติฐานอะไร เพื่อป้องกันการตั้งเป้าหมายหรือสมมติฐานที่ใหญ่เกินไป หรือเล็กเกินไป หรือไม่สอดคล้องกับไอเดียของเรา ที่อาจจะทำให้เราหลงทางได้
เป้าหมายและสมมติฐานที่เราเลือกจะเป็น “จุดตั้งต้น” ในการทดสอบไอเดียของเรา และผลการทดสอบไอเดียนั้นก็จะช่วยเป็นข้อมูลให้เราชี้ชัดได้มากขึ้นว่าเราควรทำอย่างไรต่อไป เครื่องมือ Assumption Mapping จะช่วยให้เราได้เปลี่ยนไอเดียที่ยังลอยอยู่ออกมาเป็นหลากหลายสมมติฐาน จัดเรียงประเด็น และเลือกสมมติฐานที่เหมาะกับการตั้งต้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงของเรา
ขั้นตอนการเขียน Assumption Mapping
ดาวน์โหลด Worksheet ได้ที่นี่
1. ทบทวนโจทย์
เริ่มจากการทบทวนก่อนว่า ไอเดียแก้ไขปัญหาของเราคืออะไร และเป้าหมายหรือความต้องการของเราคืออะไร เพื่อเป็นจุดตั้งตั้นในการคิดสมมติฐาน
ตัวอย่าง:
2. เขียนสมมติฐาน
เขียนสมมติฐานออกมาให้ได้มากที่สุด ถ้าสมมติฐานข้อไหนที่เรายังไม่มั่นใจหรือยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง เราควรเริ่มต้นประโยคด้วย “เราเชื่อว่า…” เพื่อเน้นย้ำว่าสมมติฐานนี้คือสิ่งที่เราคิดและเชื่อเอง ซึ่งผลการทดลองอาจจะบอกเราว่าสมมติฐานเหล่านี้อาจไม่เป็นจริงเลยก็ได้ ถึงตอนนั้น เราก็สามารถกลับมาทบทวน คิดและเรียบเรียงสมมติฐานใหม่ได้
ตัวช่วยในการตั้งสมมติฐาน
ในการตั้งสมมติฐาน ลองถามตัวเองดูว่า “อะไรบ้างที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้ไอเดียของเราประสบความสำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้” หากนึกไม่ออก เราสามารถคิดสมมติฐานออกมาตามประเด็นเล็กๆ ได้ เช่น สมมติฐานเกี่ยวกับเป้าหมาย สมมติฐานเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย สมมติฐานเกี่ยวกับวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และ สมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของไอเดีย เป็นต้น
ตัวอย่าง:
สมมติฐานเกี่ยวกับเป้าหมาย
- เราเชื่อว่า ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ จะนำไปสู่การพูดคุยกันในครอบครัว
- เราเชื่อว่า ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ จะทำให้ผู้ปกครองและเด็กมีวิธีการสื่อสารที่เข้าใจกัน
- เราเชื่อว่า การพูดคุยกันในครอบครัว จะนำไปสู่การเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น
สมมติฐานเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย
- ความคิดของเด็กและผู้ปกครองไม่ตรงกันเป็นเพราะช่องว่างระหว่างวัย
- เด็กและผู้ปกครองขาดวิธีการสื่อสารที่จะทำให้เข้าใจตรงกัน
- เด็กและผู้ปกครองมีความต้องการที่จะเข้าใจกันและกัน
- เด็กรู้สึกกดดันและเครียด เพราะผู้ปกครองกดดันเรื่องเรียน
- ในปัจจุบัน ยังไม่มีพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน
- เราเชื่อว่าผู้ปกครองจะเป็นกลุ่มที่สนใจทำ ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ มากกว่าเด็ก
- เราเชื่อว่า เด็กและผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยกว่า 100 ครอบครัวจะสนใจทำ ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’
สมมติฐานเกี่ยวกับวิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
- ผู้ปกครองจะต้องมาประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนเทอมละ 1 ครั้ง
- เราเชื่อว่าผู้ปกครองและเด็กจะเข้าถึง ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ ผ่านการประชุมผู้ปกครอง
สมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของไอเดีย
- เราเชื่อว่า ‘กิจกรรมสลับหน้าที่ในบ้าน’ จะทำให้กลุ่มเป้าหมายได้แลกเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบกับคนในบ้าน ใช้กระดานติดตามงาน พูดคุยสรุปผลและแลกเปลี่ยนความรู้สึกเมื่อจบสัปดาห์ได้จริง
จะเห็นได้ว่าเพียงไอเดียเดียว ก็สามารถมีสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังไอเดียนั้นได้เยอะมากมาย
3. วาดกราฟ 2 ช่อง x 2 ช่อง
เมื่อเราได้สมมติฐานแล้วจำนวนหนึ่ง ก็ถึงขึ้นตอนที่จะจำแนกข้อมูลด้วยกราฟ 2 X 2 โดยกราฟของเรานั้น จะมี 2 แกน คือ แกน x สำหรับพล็อตสมมติฐานที่ “มีข้อมูลอ้างอิง” ไปถึง “ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง” และ แกน y สำหรับพล็อตสมมติฐานที่ “เป็นข้อมูลที่สำคัญ” ไปสู่ “เป็นข้อมูลที่ไม่สำคัญ”
- สมมติฐานที่สำคัญ คือ สมมติฐานที่หากทดลองแล้วผลออกมาไม่เป็นตามที่คิด จะทำให้เราต้องเปลี่ยนไอเดียที่คิดมาทั้งหมด
- สมมติฐานที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิง คือ สมมติฐานที่ไม่เคยมีใครเคยทดลองไอเดียแบบนี้กับกลุ่มเป้าหมายนี้มาก่อน หรือไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่ชี้ชัดได้ ทำให้ไม่มีใครเคยรู้ว่าทดลองออกมาแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร
4. พล็อตสมมติฐานลงกราฟ
ตามภาพ เราจะเห็นว่า ในกราฟมีช่องว่างทั้งหมด 4 ช่อง ได้แก่
- สมมติฐานที่มีข้อมูลอ้างอิง และเป็นข้อมูลที่สำคัญ
- สมมติฐานที่มีข้อมูลอ้างอิง แต่เป็นข้อมูลที่ไม่สำคัญ
- สมมติฐานที่ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง และเป็นข้อมูลที่ไม่ได้สำคัญ
- สมมติฐานที่ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง และเป็นข้อมูลที่สำคัญ
5. เลือกสมมติฐานมาทดสอบไอเดียเพียง 1 สมมติฐาน
ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินทุน และแรงทำงานของเรา เราควรเลือกสมมติฐานเพียงข้อเดียวในการทดสอบไอเดีย เราจะได้มีจุดมุ่งหมายหลักในการทดลองที่ตรงประเด็น ดังนั้น ช่องที่ 4 คือช่องที่เราควรเลือกสมมติฐาน ไปทดสอบ เพราะเป็นช่องที่ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิง และข้อมูลในช่องนี้นั้นมีความสำคัญเพราะเป็นข้อมูลที่มีผลต่อไอเดียมากที่สุด
การเลือกสมมติฐานเพียงข้อเดียวไปทดลอง หรือเลือกโฟกัสหลัก สามารถเป็นเรื่องยากที่ต้องตัดใจทำ เพราะเราต่างก็ต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด แต่การเลือกโฟกัสทำและเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งจะไม่ทำให้เราวอกแวกหรือหลงทางได้ง่าย และหากการทดลองไม่เป็นผลตามคาดก็จะช่วยให้ทีมรู้ง่ายขึ้นว่าเกิดจากปัจจัยใด
เมื่อเลือก 1 สมมติฐานที่ต้องการพิสูจน์ได้แล้ว ลองใส่รายละเอียดเพื่อชี้ชัดว่า ไอเดียนี้จะสำเร็จหรือไม่ เราจะวัดจากการเปลี่ยนแปลงของอะไร อย่างเช่น วัดจากจำนวนคน พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป (กี่ครั้ง นานเท่าไหร่ต่อครั้ง) จำนวนรายได้ เปอร์เซ็นต์ความพึงพอใจ เป็นต้น
เช่นเดียวกับการเลือกโฟกัส การใส่ตัวชี้วัดก็อาจเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะมาจากความต้องการที่จะทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ ความคาดหวังในตัวเอง ความรักในไอเดียของเรา จนหลายๆ ครั้งก็เผลออะลุ่มอล่วยให้ตัวเอง หรือกระทั่งคิดเองเออว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่อย่าลืมว่าเราเองจะเป็นผู้ที่ตั้งตัวชี้วัดเหล่านี้ และจะได้เรียนรู้จากผลการทดลอง สุดท้าย หากไม่เป็นไปตามคาด เราก็กลับมาทบทวนและปรับเปลี่ยน ลดหรือเพิ่มตัวชี้วัดได้เช่นกัน
ตัวอย่าง:
เมื่อได้สมมติฐานแล้ว ก็ลองทบทวนไอเดียและโจทย์อีกทีว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีหรือไม่ และที่สำคัญ ทบทวนความรู้สึกของเราว่าตื่นเต้นอยากรู้หรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
สมมติฐานที่มีตัวชี้วัดจะสามารถนำไปต่อยอดใช้ในการประเมินกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายด้วย เป็นอีกข้อดีของการตั้งสมมติฐานให้ได้ดี ทำให้เราก็ไม่ต้องทำงานเดิมซ้ำๆ
Troubleshooting – ทำอย่างไรเมื่อไอเดียและสมมติฐานที่เราเลือกไม่สอดคล้องกัน
เมื่อเราลองลงมือทดสอบไอเดียของ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากเราจะพบว่า ไอเดียของเราและสมมติฐานที่เราลือกไม่สอดคล้องกัน เพราะสมมติฐานที่เราเลือกเป็นสมมติฐานที่ยังไม่มีใครเคยลองพิสูจน์ เช่นเดียวกับไอเดียของเราก็ยังไม่เคยได้รับการทดสอบ ดังนั้น เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ เรามีทางเลือกที่สามารถเลือกได้ ได้แก่
- คิดไอเดียใหม่ ใช้สมมติฐานเดิม
- เปลี่ยนสมมติฐานใหม่ ใช้ไอเดียเดิม
- คิดทั้งไอเดียใหม่และสมมติฐานใหม่
อ้างอิง
- Bland, David J. (2020). How Assumptions Mapping Can Focus Your Teams On Running Experiments That Matter. Retrieved July 1st, 2022, from https://www.strategyzer.com/blog/how-assumptions-mapping-can-focus-your-teams-on-running-experiments-that-matter
- mike. (2021). How To Solve Customer Problems: Part 3 of 5 — Identifying Your Riskiest Assumptions. Retrieved July 1st, 2022, from https://productcoalition.com/how-to-define-customer-problems-part-3-of-5-identifying-your-riskiest-assumptions-1a3b264de46f
- Schoups, Annelise. (2017). How to Look Before You Leap: A Guide to Mapping Assumptions for Product Development Teams. Retrieved July 1st, 2022, from https://mural.co/blog/how-to-look-before-you-leap-a-guide-to-mapping-assumptions-for-product-development-teams