Dream it Do it!!! เมื่อเราเห็นปัญหาสังคมแล้วอยากลุกขึ้นมาเริ่มลงมือทำ

image

เชื่อว่าทุกคนคงเคยมีสักครั้งหนึ่งที่มองเห็นปัญหาต่างๆ รอบตัว แล้วรู้สึกว่า อยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่สงสัยว่า แล้วฉันจะเริ่มต้นอย่างไรดีนะ ฉันจะมีความสามารถพอที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ได้จริงหรือ แล้วถ้าอยากทำ ต้องเริ่มต้นอย่างไร?

Dream it Do it  (DIDI) เป็นหนึ่งในครื่องมือที่ School of Changemakers ใช้เป็นจุดตั้งต้นในขั้นตอนการพัฒนาไอเดีย (Idea Devolopment) อยู่ใน Changemakers Toolkit Module 1 เครื่องมือนี้มีไว้เพื่อช่วยให้ (ว่าที่) นักสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ลองทบทวนตัวเอง ค้นหาจุดตั้งต้นในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยเริ่มจากจากความสนใจ ทักษะความสามารถที่ตนเองมี และปัญหาสังคมที่เราสนใจ เพราะในการแก้ไขปัญหาสังคมนั้นต้องใช้เวลา และระหว่างทางอาจจะเจออุปสรรค ความยากลำบากต่างๆ  หากไอเดียหรือจุดตั้งต้นที่เราเลือกนั้นมาจากความชอบ ความสนใจของเราเอง จะทำให้เรารู้สึกสนุก มีแรงทำสิ่งนั้นได้นาน ไม่หมดกำลังใจง่ายๆ หรือสามารถอดทนรอหากต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

จากประสบการณ์การสนับสนุนนักสร้างการเปลี่ยนแปลงของ School of Changemakers พบว่า นักสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จมากมายต่างเริ่มโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมจากความสนใจของ “ตัวเอง” จึงเป็นสาเหตุที่เราอยากให้ทุกคนได้เริ่มต้นจากการทำ DIDI เป็นเครื่องมือแรก

การเตรียมตัว

  • โหลด Worksheet ได้ที่ Dream It Do It (DIDI) หรือสามารถใช้เป็นกระดาษ A4 1 แผ่น แบ่งช่องออกเป็นสามช่อง ตามตัวอย่างจากรูปภาพ DIDI Worksheet
  • อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ดินสอ สีไม้หรือปากกาเมจิกสี
image

DIDI Worksheet

Let’s do it! (15-30 นาที)

Step 1 ช่องซ้ายบน “Skills and Interests”  ช่องนี้ชวนคุณมาสำรวจตัวเอง ดังนี้

1.1 Skills (ทักษะ ความสามารถ) เขียนทักษะหรือความถนัดของเรา ให้ลองนึกถึงสิ่งที่เราทำได้ดี คนอื่นบอกว่าเราเก่ง เรื่องนี้คนรอบข้างต้องขอให้เราทำให้ตลอด เช่น ทักษะการเขียนโปรแกรม พูดนำเสนองาน ถ่ายรูปแบบมืออาชีพ ทักษะการฟัง เป็นต้น หากนึกไม่ออก ให้ลองดูว่ามีทักษะใดบ้างที่เราอยากมีหรืออยากฝึกฝน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต ไม่ว่าจะเป้าหมายในอาชีพ เช่นหากเราอยากจะเป็นมืออาชีพเฉพาะทางควรมีทักษะใดบ้าง?  หรือเป้าหมายส่วนตัว อยากทำธุรกิจของตนเอง การจะทำสิ่งนี้ได้เราจำเป็นต้องมีทักษะใดบ้าง? เช่น การทำงานเป็นทีม ทักษะการเจรจาต่อรอง ความอดทนกล้าที่จะล้มเหลว เป็นต้น

1.2 Interests (ความชอบหรือความสนใจ) เขียนกิจกรรมหรือสิ่งที่เราสนใจ หากคิดไม่ออกอาจจะลองสังเกตง่ายๆ เช่น เราเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กทีไร เมื่อเจอหัวข้อนี้ต้องกดเข้าไปดู หรือเวลาเวิร์กชอปใดที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้ต้องขอไปเข้าร่วม เป็นความสนใจเป็นพิเศษ ไม่ต้องให้มีใครบังคับเราก็อยากจะรู้ อยากจะทำ แม้ว่าจะไม่มีสิ่งใดตอบแทน หรือเป็นความชอบส่วนตัวที่เราไม่จำเป็นต้องเก่ง เช่น ชอบวาดรูปสีน้ำ (มีอุปกรณ์สีน้ำครบชุด) หนังการ์ตูนดิสนีย์ (รู้จักเจ้าหญิงทุกคนในการ์ตูนดิสนีย์ มีความฝันอยากไปดิสนีย์แลนด์) รักน้องหมา (เจอหมาที่ไหนต้องเข้าไปเล่น เชื่อว่าสามารถสื่อสารกับหมาได้) ชอบรับประทานอาหารอร่อย (พูดถึงร้านอร่อยที่ไหน รู้หมด) ชอบการท่องเที่ยว (มีเวลาว่างเมื่อไหร่ เป็นต้องไปเที่ยว ที่ไหนมีอะไรดี ถามมาตอบได้)  ร้องเพลง (ลงเรียนร้องเพลง มีรายชื่อร้านคาราโอเกะในดวงใจ) เป็นต้น

Step 2 ช่องขวาบน “Concerns and Targets”  ช่องนี้ชวนคุณคิดถึงปัญหาสังคม หรือกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ ดังนี้

2.1 Concerns (ปัญหาที่เราสนใจ) ลองเขียนปัญหาสังคม* ที่เราอยากจะช่วยทำให้มันดีขึ้น เช่น เพื่อนท้องในวัยเรียน ชาวบ้านเป็นหนี้เงินกู้นอกระบบ การจราจรในกรุงเทพมหานคร พื้นที่ป่าในประเทศไทยมีจำนวนไม่เพียงพอ มลพิษทางอากาศ ฝุ่น pm 2.5 ขยะในชุมชน ภาระงานของคุณครูมากเกินไป  เด็กเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ การไม่ยอมรับเรื่องเพศหลากหลาย การถูกรังแกในสังคมออนไลน์ การทำร้ายร่างกายในครอบครัว อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น หากมีมากกว่า 1 เรื่อง อยากให้เลือกประเด็นที่สนใจมากที่สุดเพียงเรื่องเดียว ถ้ายังเลือกไม่ได้ ให้ลองสมมุติว่า คุณเป็นมหาเศรษฐี มีเงินอยู่จำนวน 10 ล้านบาท แล้วเงินก้อนนี้อยากจะนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาสังคมเท่านั้น และได้แค่ 1 ปัญหา เราจะเลือกใช้เงินก้อนนี้ไปแก้ไขปัญหาใด

  • ปัญหาสังคม เป็นปัญหาที่คนจำนวนหนึ่งในสังคมได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างหลายคนหรือทุกคนได้รับผลกระทบร่วมกัน

2.2 Targets (กลุ่มเป้าหมาย) เขียนกลุ่มคนที่เราอยากเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหามากที่สุด 1 กลุ่ม หากสามารถระบุได้อย่างเฉพาะเจาะจงได้ยิ่งดี เช่น เด็กม.ปลาย คุณครูประถม กลุ่ม first jobber ผู้สูงอายุในเมือง สุนัขจรจัด แม่ค้าในตลาดสดหมู่บ้าน คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กนักเรียนมัธยมในโรงเรียนที่เราเรียนอยู่ เป็นต้น

ข้อแนะนำ ปัญหาสังคมและกลุ่มเป้าหมายควรสอดคล้องกัน หากทั้งสองไม่สอดคล้องกัน เช่น ปัญหาท้องในวัยเรียน  แต่เราสนใจกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุในชนบทด้วย  เราสามารถเขียนไปก่อนได้ จากนั้นใน Step 3 เราอาจจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งจากความต้องการของเราที่อยากเห็นปัญหานี้ดีขึ้นจริงๆ หรือมีความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มเป้าหมายนี้

Step 3 ช่องด้านล่าง “Ideas”

เลือกข้อมูลจากช่อง 1 “Skills หรือ Interests” และช่อง 2  “Concerns หรือ Targets” มาจับคู่กัน วิธีการคือ เลือกช่องใดช่องหนึ่งระหว่าง ทักษะ หรือ ความสนใจของเรา (Skills or Interests) แล้วเลือกช่องใดช่องหนึ่ง ระหว่างปัญหาหรือกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ (Concerns or Targets) จากนั้นลองคิดไอเดีย* ในการแก้ไขปัญหาว่าสามารถเป็นอะไรได้บ้าง

ตัวอย่างที่ 1. เลือก Skill: ทักษะการถ่ายรูป คู่กับ Target: สุนัขจรจัด ไอเดียที่ได้คือ ถ่ายรูปลูกสุนัขจรจัดบริเวณหมู่บ้านลงโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อหาบ้านให้น้องหมา หรือ ทำแคมเปญหาคู่ ชวนเพื่อนที่ยังโสดมาถ่ายรูปคู่กับสุนัขจรจัด เพื่อโปรโมทหาคู่ ได้ทั้งคู่ของคน และคู่ (เจ้าของ) ของน้องหมาในครั้งเดียว

ตัวอย่างที่ 2. เลือก Interest: ชอบร้องเพลง คู่กับ Concern: ความเครียดของคนวัยทำงาน ไอเดียที่ได้คือ จัดประกวด “ร้องเพลงปลอดภาระ” หลังเวลาเลิกงานที่ออฟฟิศ หรือ ประกาศรับสมัครแดนเซอร์ขากเพื่อนร่วมงานมาประกอบเวลาเราร้องเพลงที่ร้านคาราโอเกะ

ตัวอย่างที่ 3. เลือก Skill: ทักษะการฝึกสุนัข คู่กับ Concern: ปัญหาขยะในตลาดนัดแถวบ้าน ไอเดียที่ได้คือ ฝึกสุนัขบริเวณตลาดนัดให้เก็บขยะ

ไอเดียที่ได้จากการจับคู่ช่อง 1 และ 2 นั้นไม่จำเป็นต้องมาจากคู่เดียวคู่เดิม เราสามารถสลับคู่เพื่อคิดไอเดียได้หลายหลาย สามารถจับเวลาขณะที่คิดไอเดียไปด้วย ยิ่งเวลาจำกัด ยิ่งทำให้ไอเดียที่ได้ออกมาดีและสนุก (โดยทั่วไปแล้วประมาณ 5 ไอเดีย ภายใน 7-10 นาที)

  • ไอเดีย อยากให้เขียนอย่างละเอียดออกมาในเชิงกิจกรรม อ่านแล้วเห็นภาพว่าต้องทำอะไร และอย่างไรบ้าง
  • * ถ้าช่องแรก (Skills and Interests) ยังไม่รู้จะเขียนอะไร อาจให้เวลาสำรวจตัวเองอีกนิด หรือหากมีแค่ปัญหาสังคมหรือกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ ไอเดียอาจมาจากประเด็นปัญหาหรือกลุ่มเป้าหมายอย่างเดียวก็ได้

ข้อแนะนำ แบบฝึกหัดนี้ คุณสามารถคิดไอเดียได้ไม่จำกัด ไม่จำเป็นต้องนึกถึงความเป็นไปได้  ใส่ความสนุก ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้เต็มที่ อยากให้เป็นไอเดียที่พาเราออกจากกรอบเดิมๆ อ่านให้เพื่อนฟังแล้วตาลุกวาวแล้วอยากชวนกันออกไปทำไอเดียนี้ให้เป็นจริงกันเลย

Facilitator Guide

  • หากทำเป็นกลุ่มหลายๆ คน ควรจับกลุ่มละ 4-6 คน แนะนำให้แชร์ไอเดียของตัวเองกับกลุ่ม ลองฟังของเพื่อนดู ไม่มีไอเดียไหนผิด หรือถูก ดี หรือแย่ โดยใช้เวลาในการแชร์ของแต่ละคนรวมกันไม่ควรเกิน 10 นาที เมื่อแชร์เสร็จสามารถผลัดกันช่วยเสนอไอเดียใหม่ๆ เพิ่มเติมให้เพื่อนได้
  • ระวังการนำ ไอเดีย จากทั้ง 2 ช่อง มาชนกันเฉยๆ เช่น ชอบดูหนัง สนใจปัญหาคนแก่ในสังคมเมือง ไอเดีย = ชวนคนแก่ดูหนัง อยากให้ใส่รายละเอียดเพิ่มเติมให้เห็นภาพกิจกรรมที่ทำ เช่น จับคู่เด็กและคนแก่ ดูหนังด้วยกันแล้วเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน คนแก่จะได้ไม่เหงา เด็กๆ จะได้เรียนรู้มุมมองของคนแก่ด้วย เป็นต้น
  • ชวนผู้ทำกิจกรรมตั้งคำถามเกี่ยวกับไอเดียของตนเอง เช่น อาจจะเขียนว่า ชอบกินอาหาร กลุ่มเป้าหมาที่สนใจคือ เด็กยากไร้ ไอเดียคือ ไปทำอาหารให้เด็กยากไร้กิน ความชอบกินอาหาร กับทักษะการทำอาหารนั้นแตกต่างกัน บางคนชอบกิน แต่อาจจะไม่ได้ชอบทำอาหารก็ได้ เป็นต้น

คุณจะพบว่า การแก้ไขปัญหาสังคมที่มาจากทักษะหรือความสนใจของคุณนั้น เมื่อบวกกับความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง และเพื่อนๆ สามารถออกมาเป็นไอเดียในการแก้ไขปัญหาสังคมใหม่ๆ ได้ไม่จำกัด!

เรียนรู้เครื่องมืออื่น ๆ ได้ที่…

Young Starters Toolkit
Coach for Change Toolkit
Insight to Prototype Toolkit
Starting Your SE Toolkit
Insight Tanks Toolkit
Theory of Change ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง
Assumption Mapping เลือกสมมติฐาน หาจุดตั้งต้นการทดสอบ
Dream it Do it!!! เมื่อเราเห็นปัญหาสังคมแล้วอยากลุกขึ้นมาเริ่มลงมือทำ
Impact Value Chain (IVC) เครื่องมือช่วยมองภาพรวมการแก้ปัญหา
How Might We คืออะไรและเขียนอย่างไร