ณ ห้อง Workshop 1 & 2 อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
School of Changemakers ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ TK Park ชวนผู้ที่อยากสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน โรงเรียน ชุมชน สถานประกอบการ หรือพื้นที่อื่นๆ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร มาร่วมเรียนรู้เครื่องมือการออกแบบพื้นที่เรียนรู้และทดลองออกแบบไอเดียสร้างพื้นที่เรียนรู้ พร้อมกับทำความรู้จักเครื่องมือการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ในชุมชนจากเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ (Learning Space Incubation Network) จากทั่วประเทศ
กิจกรรมเริ่มขึ้นด้วยการแนะนำตัวจากผู้เข้าร่วมทั้ง 18 คน ซึ่งมาจากหลายสาขาอาชีพ หลายบทบาท ทั้งคุณครูจากสถาบันสอนเทควันโด คุณแม่ที่ทำบ้านเรียนให้กับลูกและขยายผลต่อไปยังเด็กๆในชุมชน ผู้ประกอบการร้านอาหาร ไปจนถึงสถาปนิกที่อยากเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาหลักของ Workshop ในวันนั้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
1. Why ‘Learning Spaces’
พาผู้เข้าร่วมทุกคนไปดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่การเรียนรู้ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของการเรียนรู้ที่เด็กและเยาวชนในประเทศไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นผลของการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาโดยสถาบัน IMD ที่จัดอันดับให้คุณภาพการศึกษาในประเทศไทยรั้งอันดับที่ 54 จาก 60 ประเทศที่ทำการสำรวจ ไปจนถึงบริบทของสังคมไทยในหลายพื้นที่ที่พ่อแม่ต้องประกอบอาชีพหาเงินเลี้ยงครอบครัว จึงยกหน้าที่การเลี้ยงดูให้เป็นของปู่ ย่า ตา ยาย ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ดิจิตอลเพื่อลดภาระในการเลี้ยงดู ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการของเด็กตามมา
ในขณะเดียวกัน หากไปดูโมเดลของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จในบ้านเรา จะเห็นได้ถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมไปถึงการระดมทรัพยากรจากหลายภาคส่วน ทำให้เด็กได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมากขึ้นอีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเลี้ยงดูจากปู่ ย่า ตา ยาย ตอบโจทย์ทั้งในด้านประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นและเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อพัฒนาการของตัวเด็กเอง
2. Case Study: Successful Learning Spaces
เมื่อได้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้กันแล้ว เราจึงชวนผู้เข้าร่วมไปสำรวจโมเดลการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างร่วมกัน คือ
‘ตอบโจทย์ชุมชน - มีประสิทธิภาพ - เกิดความยั่งยืน’
ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างขององค์กรดังต่อไปนี้
- Playright, Hong Kong
องค์กรการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1987 ในเกาะฮ่องกง มีพันธกิจหลักในการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ทุกคนเข้าถึงการเล่นได้ในทุกพื้นที่ มีจุดเด่นในการสร้างสรรค์การเล่นให้เกิดขึ้นได้ในพื้นที่ทุกขนาด ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่เป็นแบบ Modular ขนาดกระทัดรัด เคลื่อนย้ายสะดวก รวมไปถึงการสร้างผู้อำนวยการเล่นที่คอยช่วยสนับสนุนให้เด็กและผู้ปกครองออกแบบการเล่นในแบบที่เหมาะกับตัวเองได้ อีกทั้งยังมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อบูรณาการการเล่นเข้ากับการเรียนรู้ เช่น การร่วมมือกับโรงพยาบาล โดยส่งผู้เชี่ยวชาญการเล่นไปทำงานร่วมกันหมอและพยาบาลเพื่อออกแบบการเล่นให้เหมาะกับเด็ก ๆ ที่อยู่ระหว่างการรักษาตัว
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Playright ได้ที่ https://www.playright.org.hk/en/
- โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้, จ.เชียงราย
กับโมเดลการสร้างลานเล่นชุมชนที่ชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในตอนที่ทีมของโรงเล่นได้ไปคุยกับคนในชุมชน ได้พาสถาปนิกในทีมไปช่วยเขียนแบบ 3D เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ ทำให้ได้ความร่วมมือจากคนในชุมชนในแง่ของการเสนอความเห็นรวมไปถึงการระดมทรัพยากรที่มีในแต่ละบ้านจนเกิดเป็นลานเล่นชุมชนขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของของคนในพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากเทศบาล มีช่างชุมชนมาช่วยซ่อมบำรุง มีการจัด play day ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำให้พัฒนาจากพื้นที่รกร้างจนกลายเป็นแหล่งชุมชนที่มีร้านรวงเข้ามาตั้งขายของเกิดเป็นความยั่งยืนในที่สุด
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ได้ที่ https://www.facebook.com/PlayableMuseum
3. Workshop
เปิด session ด้วยการพาผู้เข้าร่วมไปพิจารณาองค์ประกอบของการจัดพื้นที่ตามการเรียนรู้ตามบริบทที่แต่ละคนอยู่ ผ่านเครื่องมือ ‘Learning Space Elements’ โดยเครื่องมือนี้จะพาเราไปสำรวจองค์ประกอบใน 3 ด้านด้วยกันได้แก่
- กลุ่มเป้าหมาย
- กิจกรรมที่จะจัด
- รูปแบบพื้นที่
หลังจากได้มีโอกาสสำรวจทั้งสามองค์ประกอบแล้วจึงไประบุสิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจครื่องมือ ‘Learning Space Elements’ สามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้ที่ Google Docs Learning Space Element.pdf
จากนั้นอีกหนึ่งกิจกรรมที่พาผู้เข้าร่วมทำร่วมกันก็คือการคิดและเลือกไอเดีย ผ่านการใช้เครื่องมือ ‘Creative Idea’ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การหยิบจับทักษะ-ความถนัด ไปจนถึงสิ่งที่สนใจไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัญหาหรือเป้าหมายการเรียนรู้ เพื่อสร้างเป็นไอเดียที่นำมาปรับใช้ในพื้นที่การเรียนรู้ของเราได้
โดยในตัวเครื่องมือนี้จะเน้นไปที่ไอเดียที่มีความแปลกใหม่ และแตกต่างไปจากที่เคยเกิดขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่าหากปัญหาเหล่านั้นยังไม่ถูกแก้ไขแสดงว่าวิธีการที่ผ่านมานั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การยึดติดกับไอเดียเดิมๆหรือแนวทางการแก้ปัญหาเดิมๆอาจไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นหากว่าเราเปิดรับแนวทางใหม่ๆ แม้ว่าอาจจะดูไม่สมเหตุสมผลในตอนแรก แต่อาจจะสามารถต่อยอดให้กลายเป็นไอเดียที่นำมาแก้ปัญหาได้จริงในที่สุดหลังจากผ่านการเกลาไอเดียร่วมกันกับผู้อื่นแล้ว
สำหรับผู้ที่สนใจครื่องมือ ‘Creative Idea’ สามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้ที่ Google Docs Creative Idea.pdf
ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกคนที่เข้ามาร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกิจกรรม CM Club ครั้งนี้
ติดตามกิจกรรมอื่นๆ ได้ทาง Facebook Page: School of Changemakers หรือ Instagram: @schoolofchangemakers