แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะประกาศให้สิทธิเด็กทุกคนในประเทศไทยให้ได้รับการศึกษา ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด สถานะอะไร หรือแม้ไม่มีเอกสารใด ๆ พิสูจน์ตนเลยก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถหรือไม่ได้เข้าเรียนในระบบตามเกณฑ์ ซึ่งส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าและกระทบต่ออนาคตของเด็ก และอาจกลายเป็นปัญหาสังคม สูญเสียในเชิงเศรษฐกิจมหภาคได้ในระยะยาว
นิยามปัญหาและสาเหตุ
เด็กเล็กที่ไม่ได้เข้าเรียนตามเกณฑ์อายุและไม่ได้รับการดูแลและสร้างเสริมพัฒนาการที่บ้าน ส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้าและมีแนวโน้มจะไม่ได้เรียนในอนาคต สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ เด็กเล็กอายุ 3-6 ขวบที่ไม่ได้เรียนในระดับอนุบาล และเด็กอายุ 6 ปีที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้น ป.1 ตามเกณฑ์ของการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ปกครองมีความผิดทางกฎหมาย
เด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนมีอยู่ 3 กลุ่มหลักที่สำคัญและต้องการแก้ไขโดยเร่งด่วน ได้แก่
เด็กยากจนไม่ได้อาศัยกับพ่อแม่ ความยากจนเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย ด้วยภาระทางการเงิน พ่อแม่ของเด็กยากจนจึงต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการกับลูก และเป็นเหตุให้พ่อแม่จำนวนมากฝากเด็กไว้กับสมาชิกครอบครัวให้ดูแลแทน โดยผู้ดูแลสามารถเป็นได้ตั้งแต่ปู่ย่าตายายที่เกษียณอยู่บ้าน ลุงป้าที่ยังทำงานอยู่ ไปจนถึงพี่คนโตที่ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยดูแลน้อง เรียกได้ว่าเป็นผู้ปกครอง ‘จำเป็น’ ซึ่งก็มักประสบปัญหาความยากจนเช่นเดียวกัน จึงสามารถดูแลเด็กได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่เต็มที่และทำให้เด็กขาดการสนับสนุนด้านพัฒนาการที่เพียงพอ เนื่องด้วยผู้ปกครองมักเป็นคนที่ว่างงาน ไม่มีรายได้มากพอที่จะซื้อหนังสือ ของเล่น หรือให้เด็กเข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนผู้ปกครองไม่มีความรู้ที่เพียงพอและถูกต้อง เกี่ยวกับการเสริมพัฒนาการของเด็กที่บ้าน รวมถึงเกณฑ์อายุที่ต้องเข้าโรงเรียน ที่ตั้งและการเดินทางไปโรงเรียน การสมัครเรียน และประโยชน์ของการศึกษาผู้ปกครองไม่มีเรี่ยวแรงหรือกำลังที่จะเล่นกับเด็ก หรือพาเด็กไปเข้าเรียนผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลอย่างใกล้ชิดหรือพาไปเข้าเรียน เช่น ในบ้านยากจนที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ผู้ปกครองจึงต้องดูแลสมาชิกคนอื่น (เกิดใหม่/แก่ชรา/เจ็บป่วย) ด้วย และเมื่อมีโอกาสก็ต้องออกไปรับจ้างเป็นครั้งคราวเพื่อหารายได้เสริมด้วยเด็กอพยพตามครอบครัว
แม้จะมีการออกครม.ให้เด็กทุกคนได้เรียนอย่างเท่าเทียมมาตั้งปี 2548 แต่ในทางปฎิบัติ ก็ยังมีอยู่ 2 กลุ่มหลักที่ไม่ได้เข้าเรียนเนื่องจากต้องอพยพตามครอบครัว คือ กลุ่มลูกหลานผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่พูดภาษาไทยไม่ได้ และแรงงานไทยที่ไม่มีคนดูแลเด็กแทนที่บ้านเกิดจึงต้องพาเด็กย้ายถิ่นฐานไปทำงานด้วย ซึ่งปัจจัยที่เด็กอพยพตามครอบครัวยังเข้าไม่ถึงการศึกษานั้น มีอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่ ผู้ปกครองต้องตัดสินใจย้ายโดยเร็ว ไม่ได้วางแผน ด้วยลักษณะงานที่ใช้ทักษะต่ำ มีความไม่แน่นอน และสามารถถูกทดแทนได้ง่าย ทำให้ผู้ปกครองกลุ่มนี้อาจไม่มีทางเลือกมากนัก เพื่อไม่ให้ตกงาน หากมีการปรับเปลี่ยนย้ายสถานที่ทำงานก็ต้องตัดสินใจด้วยความรวดเร็ว โดยไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการย้าย และไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับการย้าย ทั้งเรื่องระยะเวลา สถานที่ ค่าจ้าง ขอบข่ายหน้าที่ ทำให้ไม่ได้คิดวางแผนการเรียนให้กับลูก นอกจากนี้ยังมีมุมมองของผู้ปกครองที่คิดว่าทำงานที่ใดที่หนึ่งเพียงชั่วคราวจึงลังเลที่จะพาลูกเข้าเรียนระบบรับเข้าและส่งต่อยังมีเงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้เด็กเข้าเรียนเด็กกลุ่มนี้มักไม่รู้อายุที่แน่ชัด ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่เคยเข้าเรียน และไม่เคยมีประวัติในฐานข้อมูลใด ๆ มาก่อน เพราะเกิดในประเทศอื่นหรือไม่เคยแจ้งเกิดจึงไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เมื่อการรับเข้า-ส่งต่อเด็กระหว่างโรงเรียนและข้ามประเทศกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก น่ากลัว ผู้ปกครองที่ไม่มีเวลา ความรู้ เอกสาร และที่สำคัญ ไม่อยากรบกวนผู้จ้าง จึงลังเลที่จะพาเด็กเข้าเรียน
เด็กพิการ และมีความต้องการพิเศษ คนที่มีความพิการและมีความต้องการพิเศษทางการศึกษานั้น จำเป็นต้องมีผู้ดูแลหรือระบบสนับสนุนที่เหมาะสมกับความพิการแต่ละประเภทในวัยนั้น ๆ ที่สุดท้ายจะส่งผลให้เด็กมีความสามารถในการดูแลตัวเอง และลดความเสี่ยงที่จะพิการซ้ำซ้อน ซึ่งผู้ปกครองที่มีเด็กพิการในความดูแลต้องใช้ความเข้าใจ ความรู้ กำลัง เวลา และค่าใช้จ่ายมากกว่าเด็กทั่วไป ทำให้บางครอบครัวที่ไม่มีทางเลือกและทรัพยากรมากนัก จึงมักเลือกให้เด็กอยู่ที่บ้านเพื่อลดภาระลง
ปัจจัยที่ทำให้เด็กพิการไม่ได้เข้าเรียนนั้น มีอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ
ลักษณะของความพิการ ซึ่งกำหนดการเลี้ยงดูที่เหมาะสมของเด็ก ความพิการบางชนิด และความต้องการพิเศษด้านการศึกษา เช่น มีปัญหาด้านอารมณ์ สมาธิสั้นนั้นไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ทำให้ผู้ปกครองและครูมักจะเข้าใจผิดได้ง่ายว่าเด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรม เกเร หรือโง่ ผู้ปกครองจำนวนมากตัดสินใจชะลอการเข้าเรียนไปก่อน เพราะไม่อยากให้เป็นภาระครู ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสมที่บ้านด้วย
ทัศนคติของผู้ปกครองและปัญหาเชิงโครงสร้าง มีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่าเด็กพิการนั้นพัฒนาไม่ได้ ในขณะเดียวกัน สถานศึกษาทั่วไปที่พร้อมรับความพิการก็มีน้อย บางโรงเรียนก็มีอัตราครูพิเศษน้อยและใช้ครูแนะแนวในการดูแลเด็กพิเศษแทน ไม่มีระบบรับรอง เช่น สื่อการเรียนการสอน การสื่อสารและภาษา ทำให้ผู้ปกครองยากจนที่ไม่มีทางเลือกมากนักอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการส่งเด็กไปเรียน บวกกับทัศนคติของผู้ปกครองที่ไม่เห็นประโยชน์ระยะยาวหากลูกได้เรียน
สถานการณ์: ปัญหาเด็กไม่ได้เข้าเรียน
- รัฐธรรมนูญปี 2550 ประกาศให้สิทธิเด็กทุกคนให้ได้รับการศึกษา ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด สถานะอะไร หรือแม้ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใด ๆ เลยก็ตาม ทำให้ปัญหาเด็กไม่ได้เข้าเรียนหรือเข้าเรียนช้าในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กถึง 15% ยังไม่ได้รับการศึกษาระดับปฐมวัย (3-5 ปี) หรือระดับอนุบาล ส่งผลให้มีความล่าช้าด้านพัฒนาการด้านการอ่านเขียนและรู้จักตัวเลข และเมื่ออายุเข้าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ (เริ่มป. 1) เด็กกลุ่มนี้ก็มีความเสี่ยงที่ไม่ได้เข้าเรียนต่อในชั้นประถมหรือไม่ได้รับการศึกษาเลยตลอดชีวิต
- ในปี 2561 รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณสำหรับดำเนินงานด้านการศึกษา กว่า 5 แสนล้านบาท หรือ 18.1% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินจัดสรรเหล่านี้เลย
- เด็กอายุระหว่าง 0-4 ปี ในประเทศไทยมากกว่า 1 ใน 5 คนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่
- 60% ของเด็กที่มาจากครัวเรือนที่ไม่ได้พูดภาษาไทย และอีก 78% ของเด็กไทยที่ได้เข้าเรียนชั้นป. 1 ซึ่งส่วนใหญ่ ครอบครัวมีสถานะยากจน
- 1:16 คือ สัดส่วนจำนวนครูต่อเด็กประถมฯ
- 25% ของผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศที่ไม่ได้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เกือบทั้งหมดเป็นแม่และเด็ก ในจำนวนนี้ เป็นเด็กเข้ามาประมาณ 400,000-500,000 คน และมีประมาณ 200,000 คนที่ไม่ได้รับการศึกษา
- ในจำนวนเด็กพิการที่มีประมาณ 800,000 คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา โดยเฉพาะในเด็กพิการทางสติปัญญา (ออทิสติก และ ADHD) ที่ 1 ใน 3 ไม่ได้รับการศึกษาตั้งแต่กำเนิด และในกลุ่มที่มีความพิการทางด้านร่างกายร่วมกับสติปัญญาด้วยมีถึง 2 ใน 3 ที่ไม่ได้รับการศึกษา
ผลกระทบ: เด็กไม่ได้เข้าเรียนส่งผลกระทบอะไรบ้าง
- เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนน้อยลง โรงเรียนขนาดเล็กก็ต้องทยอยปิดตัวลงด้วย ส่งผลกระทบให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนได้ และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เรียนมากขึ้น
- เด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาโตขึ้นมาก็ไม่มีทางเลือกมากนัก จึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาท้องไม่พร้อม ฯลฯ โดยข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกายังระบุว่า เด็กนอกระบบเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากกว่าเด็กในระบบถึง 7 เท่า และมีอายุเฉลี่ยสั้นลงกว่าเด็กในระบบ 9 ปี
- ประชากรไทยอายุ 15-59 ปี (กลุ่มกำลังแรงงาน) มีปีการศึกษาเฉลี่ย เท่ากับ 9.57 ปี หรือเทียบเท่าชั้นม.1 เท่านั้น ถือว่าเป็นแรงงานไร้คุณภาพมากถึง 28% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด สะท้อนถึงคุณภาพแรงงานที่ไม่มีความรู้เชิงลึก ไม่มีทักษะเฉพาะ ประกอบอาชีพที่ให้รายได้ต่ำ ถูกแทนที่ได้ง่าย ยากที่จะเพิ่มทักษะเฉพาะหรือเติบโตในเส้นทางการทำงาน (Career Path) และด้วยรายได้ที่น้อยกว่าจะอยู่ในฐานภาษีประเทศไทยจึงมีสัดส่วนผู้เสียภาษีน้อย เมื่อเทียบกับผู้ได้รับผลประโยชน์จากเงินภาษี จึงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะใช้พัฒนาประเทศให้ทัดเทียมและเท่าทันการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง
- ในระดับประเทศ คุณภาพแรงงานไทยต่ำกว่ามาเลเซียถึง 3 เท่า เหตุนี้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงิน 3 แสนกว่าล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3% ของ GDP
- ผู้ได้รับการศึกษาระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษาที่อายุ 25-30 ปี สามารถมีรายได้มากกว่าคนรุ่นเดียวกันที่มีการศึกษาระดับประถมถึง 2 เท่า และเมื่อถึงวัยเตรียมเกษียณ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะถ่างกว้างออกไปอีกเป็น 5 เท่า
- กลุ่มประชากรรายได้ต่ำ 40% ล่างสุดไม่มีการขยับรายได้ และชนชั้นทางสังคมมามากกว่า 4 รุ่นแล้ว
- หากแนวโน้มการเข้าเรียนของเด็กเล็กยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จะทวีความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และทำให้เด็กและครอบครัวกลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษาเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ไม่มีอาชีพและรายได้มั่นคง ไม่มีหลักประกัน และยังมีหนี้และรายจ่ายที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น สุดท้าย อาจไม่สามารถพึ่งพาตัวเองและต้องอาศัยสวัสดิการจากภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ อย่างเช่น การระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้
ตอนนี้มีใครแก้ไขปัญหานี้อยู่บ้าง
- กสศ. - โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข Conditional Cash Transfer
- กยศ. - ให้ทุนกู้เรียน
- กองทุน 10 บาท จ.เชียงใหม่
- มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
- EDF - ทุนการศึกษาเพื่อนักเรียนพิการเรียนร่วมในโรงเรียนปกติ
- สสส. - สร้างทางเลือกด้านพัฒนาการของเด็กให้เหมาะกับผู้ปกครองและเด็ก
- มูลนิธิสติ - สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ให้ความรู้ด้านสุขภาพอนามัยเด็กในพื้นที่ยากไร้
- คลองเตยดีจัง - สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์)
- มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) - สร้างโอกาสให้เด็กข้ามชาติและลูกหลานแรงงานได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย
- Unicef - ลงพื้นที่พูดคุยกับครอบครัว, คู่มือการปกป้องดูแลเด็กสําหรับภาคธุรกิจ
- PLAN International - ลงพื้นที่พูดคุยกับครอบครัว
- มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา
- บ้านทอฝัน (พื้นที่เรียนรู้ของครอบครัวเด็กพิการ) - สร้างเครื่องมือให้ผู้จ้างสามารถส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก
- แสนสิริ - พื้นที่สำหรับเด็ก เพลิน รู้ เรียน เล่น
- วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล (พิการ เรียนรวม-ฝึกงาน) - ใช้การจัดการเงินเป็นเครื่องมือให้เด็กได้เรียน
- Base Playhouse - สร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ปรับเปลี่ยนการศึกษาในยุค COVID 19
- Learn Education - ระบบเรียนรู้บนคอมพิวเตอร์ตามจังหวะของผู้เรียน
มีโอกาสและช่องว่างอะไรบ้างในการแก้ไขปัญหา
- สร้างทางเลือกด้านพัฒนาการของเด็กช่วงปฐมวัยที่บ้าน ให้เหมาะกับผู้ปกครองและเด็ก
เด็กไทยอายุ 0-4 ปี มากกว่า 1 ใน 5 คนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ถูกฝากไว้กับญาติที่บ้านเกิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวยากจน ไม่มีทรัพยากร ไม่มีความรู้ และเวลาที่เพียงพอที่จะส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้ อีกทั้ง ยังไม่มีเรี่ยวแรงมากพอที่จะพาเด็กไปฝากที่ศูนย์เด็กเล็ก แม้ในวัยนี้จะยังไม่มีความผิดทางกฎหมาย แต่ก็ทำให้เด็กเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันที่เข้าถึงของเล่น หนังสือ และกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการ รวมถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพ (อาหารที่มีสะอาด ปลอดภัย และประโยชน์) อนามัย (ความสะอาดของน้ำ บ้านเรือน การฝึกล้างมือ อาบน้ำ แปรงฟัน) ตลอดจนการฝึกใช้กล้ามเนื้อ ร่างกายให้แข็งแรง
- ทำงานกับครอบครัวให้เด็กได้เข้าเรียน โดยเน้นการให้คุณค่าของการศึกษา
ความยากจนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งทุนการศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา เพราะแท้จริงแล้ว หลายครอบครัวที่ยากจนไม่ได้ให้คุณค่าของการศึกษา มองว่าการสมัครและไปเรียนเป็นการยุ่งยาก น่ากลัว เสียโอกาสในการหาเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเล็กถูกมองว่าน่าสงสารก็จะยิ่งหาเงินได้เยอะ
สาเหตุที่ผู้ปกครองกลุ่มนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นเพราะในชุมชนหรือครอบครัวของตัวเองไม่มีใครได้เรียนหนังสือ จึงไม่เคยเห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ และไม่เข้าใจประโยชน์ที่จะได้หากลงทุนกับการศึกษาในระยะยาว
- สร้างเครื่องมือให้ผู้จ้างสามารถส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาการของเด็ก
ผู้จ้างหรือผู้ดูแลแรงงานจึงเป็นตัวแปรความสำคัญที่จะทำให้ลูกหลานแรงงานได้ไปเรียนหนังสือ เป็น Role Model การทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการในที่ทำงาน รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยและสิทธิ์ของเด็กเมื่อต้องปล่อยไว้ลำพังในไซต์ก่อสร้าง โรงงาน แปลงนา-ไร่ ป่า เป็นต้น หรือบางครั้งเด็กก็ต้องช่วยทำงาน
อย่างไรก็ดี องค์ความรู้ เครื่องมือ วิธีการดูแลและพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมในสถานที่ทำงานยังไม่เป็นที่แพร่หลายและตอบรับกับความหลากหลายมากนัก แถมยังมีค่าใช้จ่าย ใช้เวลามากในการตั้งต้น วางแผน และประสานกับผู้เชี่ยวชาญ ทำให้สถานประกอบหลายที่ลังเลที่จะมีส่วนร่วม
- ใช้ความรู้ด้านการจัดการเงินเป็นเครื่องมือให้เด็กได้เรียน
ครอบครัวยากจน มีหนี้สินเป็นสาเหตุสำคัญที่เด็กไม่ได้เข้าเรียน ต้องช่วยหาเงินโดยไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้ว มีหนี้ที่ต้องจ่ายอยู่เท่าไหร่และต้องหาเงินใช้หนี้อย่างไร เมื่อเวลาผ่านไปจนเด็กอายุเกินเกณฑ์รับเข้า จึงยิ่งทำให้เด็กกลัวและไม่อยากเข้าเรียน สุดท้าย นอกจากจะไม่รู้หนังสือ ไม่มีความรู้ แล้วยังต้องทำงานรายได้ต่ำโดยไม่สามารถปลดหนี้ได้เลย หากครอบครัวเห็นว่าแท้จริงแล้วตนเองมีหนี้อยู่เท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายเท่าใดในปัจจุบัน และต้องหาเงินเท่าไหร่ในแต่ละเดือน พร้อมกับเห็นว่าการศึกษาสามารถแก้ไขปัญหาให้เขาได้อย่างไรในระยะยาว เช่น ให้เด็กเรียนจนจบและเรียนต่อสาขาวิชาอาชีพที่ให้รายได้ดี จึงจะทำให้เขาสามารถจะปลดหนี้ได้ภายใน 5-10 ปี เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนการศึกษาในยุค COVID 19
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ภาคการศึกษาจึงต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนสู่ระบบการเรียนออนไลน์มากขึ้น ทำให้คอมพิวเตอร์ แท็ปแลต สมาร์ทโฟน และอินเตอร์เน็ต กลายเป็นอีกสิ่งจำเป็นต่อการเรียนหนังสือ ซึ่งเด็กยากจน อพยพ และพิการยังไม่สามารถเข้าถึงได้ สุดท้าย ไม่สามารถเข้าเรียนได้ อีกทั้งยังมีผลกระทบอื่น ๆ เช่น ไม่มีอาหารรับประทาน (ไม่สามารถไปทานที่โรงเรียน เพิ่มรายจ่ายด้านอาหารที่บ้าน) รายได้ (เนื่องจากผู้ปกครองถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง) ไม่มีของใช้จำเป็นในครอบครัว (ไม่มีเงินซื้อและไม่สามารถออกไปซื้ออย่างปลอดภัยได้) และปัญหาสุขภาพ
อ้างอิง
- รายงานการย้ายถิ่นของประเทศไทย พ.ศ. 2562 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
- ยูนิเซฟเผยเด็กกว่า 175 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย
- รายงานการศึกษาไทย พ.ศ. 2561 (Education in Thailand 2018)
- The Global Competitiveness Report 2019 จัดทำโดย World Economic Forum, 6th Pillar: Skills ด้านทักษะและการศึกษา
- 'ยูนิเซฟ' เผยแม่และเด็กแรงงานข้ามชาติอพยพในไทย กลุ่มเสี่ยงขาดหลักประกันสุขภาพ
- ทำไม "ลูกแรงงานข้ามชาติ" 5 แสนคน...เรียนหนังสือไม่สำเร็จ
- สลดเด็กพิการกว่า 4 แสนคนไม่ได้เข้าร.ร. 'กฎหมาย-นโยบาย'ดีแต่รัฐสอบปฏิบัติตก
- ไทยมีคนพิการ 3.7 ล้าน ไม่ได้จดทะเบียนเกินครึ่ง-เด็กวัยเรียนขาดโอกาสศึกษา
- เด็กนอกระบบการศึกษา 1.7 ล้านคน - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- 'กสศ.' ชี้ 'โควิด-19' กระทบครอบครัวยากจน หนักสุดไม่มีข้าวกิน
- รายงานเรื่องปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2561