สถานการณ์ปัญหา : เด็กออกกลางคัน

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติสิทธิของบุคคลในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเด็กทุกคน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งเด็กปกติ เด็กยากไร้หรืออยู่ในภาวะยากลำบาก เด็กพิการหรือทุพพลภาพ จะได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพและได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาพความเป็นจริง ยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยต้องออกจากโรงเรียนกลางคันและไม่จบการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัญหาดังกล่าว ส่งผลลบทั้งต่อตัวเด็กเอง และกระทบกับสังคมในระยะยาวด้วย

image

นิยามปัญหาและสาเหตุ: เด็กออกกลางคัน (Dropout)

หมายถึง นักเรียนที่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษา แต่ออกจากสถานศึกษาโดยไม่กลับเข้ามาเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี (ป.1-ม.3)

แบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ที่ทำให้เป็นปัญหา ได้แก่

  1. เด็กมี “ความจำเป็น”

มีเงื่อนไขส่วนตัวที่ไม่สามารถเรียนต่อได้จนจบ ทำให้คิดว่าการเรียนเป็นการเสียเวลา หรือ เสียประโยชน์  เป็นสถานการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นในครอบครัวยากจน ที่มีหนี้สิน ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ต้องการคนเยอะที่สุดมาช่วยหาเงิน  ซึ่งผู้ปกครองของเด็กกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการศึกษาสูงนักทำให้มองไม่เห็นประโยชน์ที่ลูกหลานจะได้รับจากการศึกษา ได้แก่

  • เด็กที่ครอบครัวมีหนี้สิน ต้องดูแลครอบครัวเพราะสมาชิกเกิด/แก่/เจ็บป่วย/เสียชีวิต/แยกทาง  ในหลายกรณี มักจะเป็นเด็กผู้หญิงที่ออกมาช่วยผู้ปกครองเพื่อให้น้อง (ผู้ชาย) ได้เรียน
  • เด็กอพยพย้ายถิ่นตามผู้ปกครอง เพราะไม่มีญาติให้ฝากเด็ก และไม่ได้วางแผนการย้ายให้เด็กได้เรียน
  • เด็กแต่งงาน-ตั้งครรภ์ มีครอบครัวที่ต้องดูแล
  1. เด็ก (ถูกมองว่า) มีปัญหาพฤติกรรม

แม้จะมีพรบ.ให้สิทธิคุ้มครองเด็กทุกคนให้เรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับฯ แต่เด็กกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นปัญหา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับผู้อื่น  ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถช่วยเหลือได้โดยการให้การสนับสนุนหรือให้โอกาส แต่ในความเป็นจริง วิธีแก้ไขปัญหาของสังคมยังเป็นไปในเชิงลงโทษ พักการเรียนหรือ “ขอให้ออก” จากสถานศึกษา  เด็กกลุ่มนี้จึงมักจะรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ไม่คู่ควรกับการศึกษา การลงทุน และไม่มีอนาคตที่ก้าวหน้า เช่น

  • เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง เกเร ขาดเรียน ขาดสอบบ่อยครั้ง
  • เด็กมีประวัติ: ต้องคดี ติดยา ลักขโมย ตั้งครรภ์ไม่ตั้งใจ/ตั้งครรภ์ก่อนพร้อม
  • เด็กไม่เรียนไม่เก่ง: เด็กไม่เก่งวิชาการโดยเฉพาะวิชา STEM เด็กพิการทางปัญญา เด็กที่มีความต้องการพิเศษ
  1. เด็กไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาที่เหมาะสม

การเรียนการสอนส่วนใหญ่เป็นแบบ one size fits all ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับรองเด็ก “ทั่วไป” ไม่ครอบคลุมปัญหาที่มีความหลากหลายและเฉพาะตัวของเด็กกลุ่มอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ไม่มีทรัพยากร และไม่มีคนคอยสนับสนุน  เมื่อมีปัญหา ก็ไม่มีการสื่อสารและหาทางออกร่วมกันระหว่างเด็ก ครู ผู้ปกครอง ทำให้ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรให้เด็กได้เรียนจนจบ เช่น

  • เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กที่บ้านห่างไกล เด็กในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่มีผู้ดูแล-สนับสนุนให้เรียน ไม่มีทุนทรัพย์ไปเรียนอย่างปลอดภัย (ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าชุด ค่าหนังสืออุปกรณ์การเรียน)
  • เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนการสอนที่ไม่เป็นมาตรฐาน  เด็ก ในโรงเรียนที่มีครูจำนวนน้อยกว่าชั้นเรียนและต้องเรียนผ่านช่องการศึกษาทางไกลทางโทรทัศน์  เด็กที่เริ่มเรียนชั้นที่สูงขึ้นหรือย้ายโรงเรียนแล้วเรียนไม่ทันเพื่อน เรียนไม่ไหว
  • เด็กพิการ ความต้องการพิเศษ  แม่วัยรุ่น ที่ต้องออกจากระบบเพราะโครงสร้างทางกายภาพไม่เอื้ออำนวย (การเดินทาง ขึ้นลงตึกเรียน ห้องฝากเด็กอ่อน)
  • เด็กชาติพันธุ์ ข้ามชาติ เด็กพิการ ความต้องการพิเศษ ที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร-ภาษา (สื่อการเรียนการสอนที่เสริมพัฒนาการ การสื่อสารด้วยภาษาที่บ้านเป็นอีกภาษาที่ใช้คุยกับครูและเพื่อนที่โรงเรียน)
  • เด็กที่รู้สึกเบื่อครู เบื่อเรียน รู้สึกว่าการเรียนไม่สอดคล้องกับชีวิต  เด็กที่กดดันจากการเรียนการแข่งขันที่โรงเรียน  ถูกบูลลี่  รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสังคม

สถานการณ์: ปัญหาเด็กออกกลางคันรุนแรงแค่ไหน

ในแต่ละปี ประเทศไทยมีเด็กออกกลางคันมากถึง 2% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด เมื่อนำมารวมกับจำนวนเด็กวัยเดียวกันที่ไม่ได้เรียนตั้งแต่เกิด และที่หลุดออกก่อนหน้านี้ เรียกรวม ๆ กันว่าเด็กนอกระบบ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว จะพบว่า ในเด็กไทยทุกๆ 100 คน จะมี 16 คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ

ในขณะที่เด็กที่มีทรัพยากรและผู้สนับสนุนมากกว่าเติบโตไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี เด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมีภาระทางการเงิน มีหนี้สิน การสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ 40% และ 20% ล่างสุด มีรายได้เพียง 3,000 และ 1,500 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น คิดเป็นรายได้ที่ต่ำกว่ากลุ่มรายได้สูง 10% บนสุด ถึง 10 เท่า

นอกจากนี้ เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทางเลือกในการดำเนินชีวิต การงาน ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว อนาคต จนถึงรุ่นลูกหลาน กลายเป็นวงจรโง่-จน-เจ็บ เด็กที่ออกกลางนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์จากงบที่รัฐจัดสรรสำหรับการศึกษากว่าปีละ 5 แสนล้านบาท ไม่ได้รับความรู้ เครื่องมือ การสนับสนุน และสังคมสนับสนุน ตลอดจนขาดโอกาสในการจัดการปัญหาที่ตนเอง ครอบครัวและชุมชนเผชิญ

ในปี 2561 รัฐบาลได้จัดสรรเงินประมาณสำหรับดำเนินงานด้านการศึกษา กว่า 5 แสนล้านบาท หรือ 18.1% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินจัดสรรเหล่านี้เลย รายงานการศึกษาไทย พ.ศ. 2561 (Education in Thailand 2018) มีเด็กไทยมากกว่า 2,000,000 คน ที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน ครอบครัวในกลุ่มยากจนที่สุด มีรายได้เพียง 15 บาทต่อคนต่อวันเท่านั้น เด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา เสี่ยงก่อเกิดปัญหาสังคมได้มากกว่านักเรียนร่วมวัยถึง 7 เท่า และยังมีชีวิตสั้นลง 9 ปีเมื่อเทียบกับเด็กในสังคมเดียวกัน

ผลกระทบ: เด็กนอกระบบส่งผลกระทบอะไรบ้าง

  • ประชากรไทยอายุ 15-59 ปี (กลุ่มกำลังแรงงาน) มีปีการศึกษาเฉลี่ย เท่ากับ 9.57 ปี หรือเทียบเท่าชั้นม.1 เท่านั้น รายงานเรื่องปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2561 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สะท้อนถึงคุณภาพแรงงานที่ไม่มีความรู้เชิงลึก ไม่มีทักษะเฉพาะ ประกอบอาชีพที่ให้รายได้ต่ำ ถูกแทนที่ได้ง่าย ยากที่จะเพิ่มทักษะเฉพาะหรือเติบโตในเส้นทางการทำงาน (Career Path) และด้วยรายได้ที่น้อยกว่าจะอยู่ในฐานภาษี ประเทศไทยจึงมีสัดส่วนผู้เสียภาษีน้อย เมื่อเทียบกับผู้ได้รับผลประโยชน์จากเงินภาษี จึงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะใช้พัฒนาประเทศให้ทัดเทียมและเท่าทันการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง
  • คนหนุ่มสาว (อายุ 25-30 ปี) ที่มีการศึกษาระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษาจะสามารถมีรายได้มากกว่าคนรุ่นเดียวกันที่มีการศึกษาระดับประถมถึง 2 เท่า และเมื่อถึงวัยก่อนเกษียณ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก็จะถ่างกว้างออกไปเป็นกว่า 5 เท่า
  • กลุ่มประชากรรายได้ต่ำ 40% ล่างสุดไม่มีการขยับขึ้นทางสังคมมานานกว่า 4 รุ่นแล้ว
  • ในระดับประเทศ คุณภาพแรงงานไทยต่ำกว่ามาเลเซียถึง 3 เท่า เหตุนี้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียเงิน 3 แสนกว่าล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3% ของ GDP

ปัญหาเด็กออกกลางคันจึงเป็นปัญหาจำเป็น เร่งด่วนและรอไม่ได้ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับโอกาส ทักษะ ความรู้ บ่มเพาะความคิด เติบโตไปเป็นแรงงานคุณภาพ มีคุณภาพชีวิต และมีความสุขมากขึ้น คิดค้นและแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ เป็นผู้เสียภาษี  สังคมเหลื่อมล้ำเหลื่อมล้ำน้อยลงและไว้ใจกันมากขึ้น ประเทศพ้นความเสี่ยงด้านวิกฤติเศรษฐกิจ พร้อมทั้งพ้นกับดักการเป็นประเทศกำลังพัฒนา เปลี่ยนสถานะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ตอนนี้มีใครแก้ไขปัญหานี้อยู่ และมีช่องว่างตรงไหนให้เราทำบ้าง

  • กสศ. - โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข Conditional Cash Transfer)
  • กยศ. -ให้ทุนกู้เรียน
  • กองทุน 10 บาท จ.เชียงใหม่
  • iSEE - พัฒนาระบบคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะออกจากระบบการศึกษา
  • EdWINGS
  • กลุ่มลูกเหรียง
  • Inskru - ครูเข้าถึงเครื่องมือเข้าถึง-สนับสนุนเด็กรายคน
  • โรงเรียนขลุงรัชดาภิเษก จันทบุรี และโรงเรียนวัดสังเวช กทม. - สนับสนุนเด็กตั้งครรภ์เรียนจนจบ
  • Unicef - ลงพื้นที่พูดคุยกับครอบครัว
  • PLAN International - ลงพื้นที่พูดคุยกับครอบครัว)
  • P2H - โครงการพ่อแม่คุยกับลูกเรื่องเพศ
  • Heartist
  • บ้านทอฝัน - พื้นที่เรียนรู้ของครอบครัวเด็กพิการ
  • คลองเตยดีจัง - สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ชุมชนไว้ใจกัน
  • มูลนิธิสติ - รวมกลุ่มอาสามาเสริมทักษะความชอบ
  • ก่อการครู - พื้นที่เรียนรู้ครูรุ่นใหม่
  • a-chieve - ชุมชนพี่ต้นแบบที่ช่วยให้แนวทางด้านอาชีพ และการศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น
  • The Guidelight - เครื่องมือช่วยเรียนและฝึกทักษะอาชีพของเด็กตาบอด
  • โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา - ระบบ PLC ของครู
  • สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย - จัดการเรียนตามความชอบ ความถนัดและวิถีชีวิต
  • มูลนิธิสติ - สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ให้ความรู้ด้านสุขภาพอนามัย (เด็กในพื้นที่ยากไร้)
  • Learn Education - ระบบเรียนรู้บนคอมพิวเตอร์ตามจังหวะของผู้เรียน

มีโอกาสและช่องว่างอะไรบ้างในการแก้ไขปัญหา

  • พัฒนาระบบคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะออกจากระบบการศึกษา

ก่อนที่เด็กจะเลิกเรียน พวกเขามักจะแสดงพฤติกรรมความเสี่ยงออกมา เช่น ขาดเรียน ขาดสอบ ต้องช่วยผู้ปกครองทำงานตามฤดูกาล ดูหิวโหย ใจลอย อิดโรย ดูเครียดและกังวล จากการช่วยทำงานก่อนมาโรงเรียน  หรือผอมแห้ง หิวโหยจากบ้านเพราะไม่ได้ทานอาหาร หรือทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หวาดกลัวไม่เข้าสังคม ดูเบื่อหน่าย ไม่มีความสุขกับการไปโรงเรียน อาการเหล่านี้แม้จะไปโรงเรียนก็จริง แต่ไม่พร้อมที่จะเรียน ซึ่งมีแบบแผน (pattern) ที่สามารถคัดกรองได้ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนเพื่อวางแผนการดูแลรายบุคคล แต่ในหลาย ๆ กรณี ครูก็มักจะมีภาระงานเยอะ ทั้งงานเอกสาร งานสอน โดยเฉพาะในโรงเรียนเล็กๆ ที่ครูคนเดียวต้องดูแลหลายห้องหลายชั้น ทำให้ยากที่จะสังเกตเห็น เยี่ยมบ้าน ตลอดจนคิดแผนแก้ไขปัญหากับครอบครัวและเด็กไม่ให้ออกจากระบบ

  • ทำงานกับครอบครัวให้เด็กได้เรียนต่อ เน้นการสร้างคุณค่าให้กับการศึกษา

ความยากจนทำให้เด็กออกกลางคัน แต่ทุนการศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด เพราะหลายครอบครัวที่ยากจนนั้นไม่ได้ให้คุณค่ากับการศึกษา มองว่าการเรียนเสียโอกาส เสียเวลาในการหาเงิน ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่มีใครในครอบครัวได้เรียนหนังสือ นอกจากนี้ ยังมีอีกในหลาย ๆ กรณี ที่นักเรียนต้องออกจากระบบเพราะครอบครัวและโรงเรียนจัดการปัญหาในเชิงลงโทษมากกว่าช่วยเหลือ เห็นได้บ่อยในเด็กตั้งครรภ์ เด็กเกเร ก้าวพลาด พิการ ความต้องการพิเศษ ความเข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่เด็กจะได้รับการลงทุนและการใส่ใจในด้านการศึกษา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ พัฒนาตัวเอง และไม่ตัดโอกาสตัวเองเสียก่อน

  • สร้างเครือข่ายสังคมดูแลและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กนอกระบบ

เด็กหลายคนไม่มีโอกาสทางการศึกษาเพราะไม่มีคนดูแล จากสถิติพบว่า เด็กยากจน กว่า 36% ‘กำพร้าเทียม’ ถูกพ่อแม่ฝากไว้กับญาติผู้ใหญ่ในบ้าน ซึ่งก็ไม่มีทรัพยากรที่จะส่งเสียเด็กให้เรียนเช่นกัน นอกจากนี้ยังมี เด็กที่ต้องดูแลตัวเองเพราะพ่อแม่ทำงานจนไม่มีเวลา เด็กกลุ่มนี้จึงมีความเปราะบางทางสังคม ไม่มีใครดูคอยกระตุ้น ชี้แนะ ให้กำลังใจให้เรียนดีขึ้น เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่มีใครเข้าใจหรือให้คำปรึกษา ครูก็ไม่รู้ว่าต้องพูดคุยกับใครที่จะช่วยดูแลเด็กนอกโรงเรียน สุดท้ายเด็กก็หลุดออกจากระบบไปโดยง่าย

  • ใช้ระบบ feedback ในรร.เพื่อพัฒนาการเรียนรู้

เด็กออกจากโรงเรียนเพราะ ไม่อยากเรียน/เบื่อเรียน/เบื่อครู และ เรียนไม่ไหว/เรียนไม่ทันเพื่อน สูงเป็นอันดับ 1 และ 3 จากปัญหาที่พบมากที่สุด 5 อันดับ

  • สร้างทางเลือกทางการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตเด็ก

กศน.เป็นอีกทางเลือกของการศึกษา อย่างไรก็ตาม กศน. ถูกออกแบบมาสำหรับผู้เรียนอายุ 15 ปีขึ้นไป และสามารถรับรองผู้เรียนได้ 200,000 คนเท่านั้น ทำให้เด็กที่ออกกลางคันก่อนอายุ 15 ปีต้องหลุดหายไปจากระบบ

  • Empower เด็กกลุ่มเสี่ยงและนอกระบบให้มีมุมมองบวกต่อตัวเองและอนาคต

เด็กจำนวนมากประสบปัญหาความจนภายใน เพราะไม่เชื่อมั่นในตัวเอง เติบโตมาในสังคมที่กดทับความคิด ตัวตน เห็นเพียงข้อจำกัดของตัวเอง  ไม่เคยได้รับโอกาสในการเรียนรู้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์   อีกทั้ง ในสังคมที่อยู่ก็ไม่มีผลสำเร็จจากการศึกษาให้เห็นเท่าไหร่ ทำให้ไม่มีตัวอย่าง (Role Model) เด็กจึงไม่เคยคิดไปไกลกว่าที่เห็นและเป็นอยู่  และน่าเสียดายที่สุด คือ เด็กหลายคนนั้นไม่มีความฝัน

  • ให้เด็กยากจนออกแบบแผนการเงิน

ครอบครัวมีหนี้สินเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ลูกหลานต้องออกจากระบบมาช่วยหาเงิน โดยที่ไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วเป็นหนี้อยู่เท่าไหร่ ต้องหาเงินใช้หนี้อย่างไร สุดท้ายเด็กก็ออกจากระบบโดยไม่สามารถปลดหนี้ได้เลย  หากเด็กได้เห็นปัญหา และเห็นว่าการเรียนสามารถแก้ไขปัญหาให้เขาได้อย่างไรในระยะยาว เช่น เรียนจนจบและเรียนต่อสาขาวิชาอาชีพที่ให้รายได้ดี แล้วสามารถจะปลดหนี้ได้ภายใน 5-10 ปี เป็นต้น

  • การเข้าถึงเทคโนโลยี

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ภาคการศึกษาจึงต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนสู่ระบบการเรียนออนไลน์มากขึ้น ทำให้ คอมพิวเตอร์ แท็ปแลต สมาร์ทโฟน และอินเตอร์เน็ต กลายเป็นอีกสิ่งจำเป็นต่อการเรียนหนังสือ ซึ่งเด็กยากจน อพยพ และพิการยังไม่สามารถเข้าถึงได้ สุดท้าย ไม่สามารถเข้าเรียนและออกจากระบบไปในที่สุด อีกทั้งยังมีผลกระทบอื่นๆ เช่น ไม่มีอาหารรับประทาน (ไม่สามารถไปทานที่โรงเรียน เพิ่มรายจ่ายด้านอาหารที่บ้าน) รายได้ (เนื่องจากผู้ปกครองถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง) ไม่มีของใช้จำเป็นในครอบครัว (ไม่มีเงินซื้อและไม่สามารถออกไปซื้ออย่างปลอดภัยได้) และปัญหาสุขภาพ

อ่านบทความอื่นๆ

What is Insight? ข้อมูลเชิงลึกของปัญหาคืออะไร และสำคัญอย่างไร?
สถานการณ์ปัญหา : สุขภาพจิตวัยรุ่น
สถานการณ์ปัญหา : ขยะในประเทศไทย
สถานการณ์ปัญหา : การกลั่นแกล้งกันของเด็กและเยาวชน (Bullying)
สถานการณ์ปัญหา : รัฐสวัสดิการกับการแก้ปัญหาสังคม ตอนที่ 2
สถานการณ์ปัญหา : รัฐสวัสดิการกับการแก้ปัญหาสังคม ตอนที่ 1
สถานการณ์ปัญหา : เด็กออกกลางคัน
สถานการณ์ปัญหา : เด็กไม่เรียนต่อ
สถานการณ์ปัญหา : เด็กไม่ได้เข้าเรียน
สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 2
สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 1
Insight : Mental Health at Work ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน