นวัตกรรม (Innovation) เป็นคำศัพท์ที่ได้ยินกันเป็นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาและใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการใช้คำว่า นวัตกรรม ในคำโฆษณาสินค้าเกือบทุกประเภท งานเกือบทุกงาน เรียกได้ว่าเดินไปทางไหนก็เจอแต่คำว่า “นวัตกรรม” “นวัตกรรม” “นวัตกรรม” เป็น Buzz Wordจากความสงสัยใคร่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว “นวัตกรรม” มีความหมายว่าอย่างไร แล้วแต่ละวงการ มีความเข้าใจคำว่า นวัตกรรมเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร ผู้เขียนจึงได้ลองไปศึกษาจากหลากหลายแหล่งแล้วลองนำความหมายมา สร้างกลุ่มคำร่วมที่เข้าใจง่ายออกมาเป็น “#EasyInnovation Model” นิยามนวัตกรรมแบบที่เข้าใจได้ง่ายและสามารถหยิบไปใช้งานได้จริง
สิบปากว่าไม่เท่าเห็นของจริงลองข้ามขีดความท้าทายของความสับสนมาลองอ่านสักเล็กน้อย … แล้วคุณจะรู้ว่า “นวัตกรรม : Innovation” เป็นเรื่องง่ายและ ใกล้ตัวมากกว่าที่คิดยิ่งนัก
3 วงหลักประกอบร่างกลายเป็นนวัตกรรม
นวัตกรรม ตามแนวทางของ #EasyInnovation เกิดจากการรวมตัวของ 3 กลุ่มคำที่สำคัญ คือ Thing + New + Value
ซึ่งผู้อ่านต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “นวัตกรรม” นั้นจะไม่เหมือนคำว่า โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า ซึ่งเมื่อเราเห็นของสิ่งนั้นเราสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นผลิตภัณฑ์อะไร หรือเป็นสิ่งใด แต่การที่จะเรียกของสิ่งใดว่าเป็นนวัตกรรมเราต้องทำการพิจารณาของสิ่งนั้นเทียบกับบริบทและสภาพแวดล้อม (Context & Content) เสียก่อน โดยการเทียบเคียงกับ 3 กลุ่มคำ คือ Thing + New + Value
“THING”
ถ้าเราแปลความหมายตามพจนานุกรมเราจะได้ความหมายว่า สิ่งของ สิ่งที่เกิดขึ้น รายละเอียด จุดประสงค์ งานที่ต้องทำ สำหรับครั้งนี้เราใช้ “THING” แทนความหมายของสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ดำเนินการทำออกมาแล้ว โดยแบ่งออกเป็นประเภทย่อยที่สุดได้ 4 ประเภท คือ
- ผลิตภัณฑ์ (Product)
- กระบวนการ (Process)
- การบริการ (Service)
- รูปแบบธุรกิจ (Business Model)
นั่นแปลว่า…ขอบข่ายของนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “THING” สามารถเป็นได้ทั้งสินค้า บริการ กระบวนการ หรือโมเดลต่างๆ ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้
“NEW”
หมายถึง ความใหม่ แต่ถ้าพูดคำว่าใหม่ลอย ๆ อาจจะเกิดอาการถกเถียงกันว่าใหม่ของฉันแต่อาจจะไม่ใหม่ของเธอ ใหม่ของประเทศแต่อาจจะไม่ใหม่สำหรับโลกใบนี้ จึงเป็นข้อถกเถียงกันเสมอว่า นวัตกรรมต้องใหม่แค่ไหน จึงจะเรียกว่านวัตกรรม สำหรับความใหม่นั้น ผู้เขียนขอหยิบมาตรฐานที่สามารถอ้างอิงให้เราสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น คือ BS-7000 : 2008 หรือเรียกชื่อเต็มว่า British Standard 7000 – 2008 : Managing Innovation ซึ่งได้อธิบายนิยามของคำว่า”ใหม่” ไว้ว่ามี 9 ระดับด้วยกัน ซึ่งความใหม่ที่แตกต่างกันนั้นแสดงให้เห็นถึงระยะเวลาในการพัฒนา นำเสนอ หรือการได้มาซึ่งรางวัล หรือสิ่งตอบแทนที่แตกต่างกัน และเป็นระดับของนวัตกรรมที่แตกต่างกันอีกด้วย
ดังนั้นระดับความใหม่ของนวัตกรรม มีได้หลายระดับ ผลิตภัณฑ์ใหม่ในระดับอุตสาหกรรมแต่ไม่ใหม่ในประเทศ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมในระดับอุตสาหกรรมนั่นเอง หรือบางครั้งเราสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาของตัวเองในแบบที่ตัวเรายังไม่เคยทำมาก่อน ก็เรียกว่าได้ว่า เป็นนวัตกรรมระดับบุคคล (ใหม่สำหรับตัวเอง) ได้เช่นกัน
“VALUE”
“คุณค่า” คือ กลุ่มคำสำคัญที่ขาดไม่ได้ สำหรับนิยามของนวัตกรรม นั่นคือ สิ่งใหม่นั้นจะเกิดคุณค่าได้จริงก็ต่อเมื่อมีผู้นำไปใช้งาน (User) แล้วเท่านั้น หรือพูดอีกแง่คือ มีผู้ใช้งานหรือผู้ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น (THING) นั่นเอง โดยเราสามารถพิจารณาคุณค่าเบื้องต้นจากสามเหลี่ยม “Value to Customer” ว่ามีคุณค่าอยู่ 3 ประเภทที่ลูกค้าต้องการ ได้แก่
- Gain Creator การได้รับผลตอบแทน / ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น มากขึ้น
- Reduce Pain Point การลดความเจ็บปวด หรือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสามารถมองให้ละเอียดขึ้นเป็น 4 มิติของปัญหา ได้แก่Man = คนMachine = เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์Material = วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้Method = กระบวนการ วิธีการ
- Emotional Contribution การสร้างอารมณ์ร่วม หรือคุณค่าบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ในใจของลูกค้า หรือผู้ใช้งาน
โดยสรุป คือ นวัตกรรม = THING + NEW + VALUE ซึ่งในนิยามตามแนวทางของ #EasyInnovation คือ สิ่งที่สร้างสรรค์ พัฒนา ปรับปรุงขึ้นมาใหม่และ เกิดคุณค่า/ประโยชน์ โดยจะเป็นนวัตกรรมในระดับไหนนั้นก็จะขึ้นอยู่กับระดับของความใหม่ และเป็นนวัตกรรมประเภทไหนนั้นก็กลับมาดูที่ “THING” นั่นเอง
ยกตัวอย่าง “เล่นเส้น” อุปกรณ์วาดเขียนสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ใกล้ๆ ตัว มาสร้างเป็น “สิ่งใหม่” แก้ปัญหาและเพิ่มคุณค่าให้กับผู้พิการทางสายตา
Thing = ผลิตภัณฑ์
New = ระดับประเทศ
Value = แก้ไขปัญหา ผู้พิการทางสายตาไม่มีอุปกรณ์วาดเขียนที่เหมาะสม และสร้างคุณค่าทางจิตใจ สร้างประสบการณ์จากการใช้งาน ปลอดภัยต่อผู้พิการทางสายตา
เมื่อสังเกตโมเดล #EasyInnovation จะเห็นจุดร่วมของระหว่าง 2 วงกลม คือ Invention – Initiative – Invaluable ซึ่งไม่ครบองค์ประกอบ 3 อย่างของนวัตกรรม (Thing-New-Value) จึงยังไม่นับเป็นนวัตกรรม เรามาลองทำความเข้าใจไปพร้อมกัน
Invention (Thing + New) = สิ่งประดิษฐ์
สิ่งประดิษฐ์ คือสิ่งที่ทำขึ้นมาใหม่ พัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือพัฒนาต่อยอดมาจากของเดิม สามารถเป็นได้ทั้งผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และอื่น ๆ ตามความหมายของ Thing แต่ยังไม่มีวงกลมของ “Value” เข้ามาร่วม หมายความว่า สิ่งประดิษฐ์นี้ยังไม่ได้เริ่มมีการใช้งานจากผู้ใช้ ยังไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ใช้งาน ผู้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ยกตัวอย่าง โปรเจกต์ของน้องๆ นักศึกษาที่ทำปลอกคอวัดอุณหภูมิสุนัข Dog-Tor ที่ช่วยวัดและส่งสัญญาณแจ้งผู้ดูแลสุนัขว่า สุนัขตัวนี้ป่วย มีไข้หรือไม่ ได้ขึ้น Prototype ทดสอบในโรงพยาบาลสัตว์เกษตร ช่วยลดเวลาพยาบาลในการดูแลสุนัขที่ป่วยใน ICU และวางแผนจะขยายผลใช้กับสุนัขจรจัด สุนัขในบ้านพักพิงที่ต้องอยู่ร่วมกัน แต่ ยังไม่ได้มีการนำไปใช้งาน จึงเป็น “สิ่งประดิษฐ์” ที่ใหม่ระดับประเทศ (ต่างประเทศมีทำขายแล้ว แต่มีราคาสูง)
Initiative (New + Value) = การคิดริเริ่ม
การคิดริเริ่ม ตัวความคิดใหม่ (New Idea) หรือความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) นั้นไม่ได้รวมวงกลม Thing เข้าไปด้วย (แปลว่ายังไม่มีออกมาเป็นสิ่งของ บริการ หรืออื่นๆ) เป็นเพียง แนวคิดใหม่ หรือ แนวคิดสร้างสรรค์ที่คาดว่าจะเกิดประโยชน์แต่ “ยังไม่ได้สร้างหรือทำให้เกิดขึ้นจริง” นั่นเอง จึงเป็นที่มาว่าทำไมองค์กรต่าง ๆ จึงสนับสนุนให้มีการทำ Idea Suggestion (กิจกรรมส่งประกวดไอเดีย) ต่าง ๆ เพราะถือว่าไอเดีย ความคิดใหม่ ความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นต้นกำเนิดของนวัตกรรมนั่นเอง เมื่อมีไอเดียดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย ก็สามารถที่จะพัฒนาต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริงและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จนออกมาเป็น “นวัตกรรม” ได้เช่นกัน
Invaluable (Thing + Value) = ของที่ยังมีประโยชน์อยู่
ในที่นี้ใช้แทนความหมายของคำว่าสิ่งที่ยังมีประโยชน์อยู่ แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมของสิ่งใด ๆ ก็ตามไม่ได้อยู่ยาวนานตลอดไป เมื่อผ่านการใช้งานมาได้สักระยะหนึ่งเมื่อมีการใช้งานกันมากขึ้นทำให้สิ่งนั้นใช้กันจนทั่วไป ไม่ใหม่อีกต่อไป แต่ยังมีการใช้งานกันอยู่เพราะยังเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ในแง่ใดแง่หนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น Local Alike เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ได้ริเริ่มทำ Platform ออนไลน์ที่นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ทั้งในแบบ one-day trip หรือแพคเกจทัวร์แบบค้างคืน สามารถสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ทั่วประเทศ และเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย
Thing = Business ModelNew = ระดับโลกValue = สร้างคุณค่าทางจิตใจ สร้างประสบการณ์จากการท่องเที่ยว และสร้างคุณค่าให้กับชุมชนสังคมโดยรอบ
แต่จะเห็นว่าปัจจุบันมองผ่าน #EasyInnovation Model จะเห็นว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าได้อย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้มีความใหม่แล้ว ทั้งนี้ Local Alike ไม่ได้หยุดพัฒนาโมเดลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง มีทั้ง Local Aroi ที่ส่งตรงอาหารชุมชนพร้อมเรื่องราวท้องถิ่น วัตถุดิบชุมชนให้ถึงมือผู้บริโภค จากการร่วมมือของเชฟชื่อดัง และ Local Alike มาช่วยกันออกแบบประสบการณ์และนำเสนออาหารเมนูต่างๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมในรูปแบบกระบวนการเช่นกัน
อ่านผ่านมาถึงตรงนี้ได้ น่าจะทำให้ทุกคนเข้าใจคำว่า “นวัตกรรม : Innovation” ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนสำคัญของเรื่องคืออยากทำให้รู้สึกได้ว่านวัตกรรมไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราและทุกคนสามารถสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้โดยเริ่มจากตนเองและ ทำได้ในทุกวันเช่นกัน
กระบวนการสร้างนวัตกรรม
เมื่อเราย้อนกลับมาดู #EasyInnovation การพิจารณาว่าเป็นนวัตกรรมไหม คือ การพิจารณาผ่าน Thing -> New -> Value เมื่อครบทั้ง 3 ส่วนจึงพอบอกได้ว่าเป็นนวัตกรรม และถ้าเราอยากเริ่มสร้างนวัตกรรมสิ่งแรกที่เราควรพิจารณา คือ การหมุนโมเดลย้อนกลับ คือ Value -> New -> Thing
เราเริ่มต้นการสร้างนวัตกรรมแบบง่าย ๆ ว่า คุณค่า (Value) ใหม่ ๆ ที่เราอยากสร้างขึ้นให้แก่ ผู้ใช้ (User) องค์กร อุตสาหกรรม หรือประเทศ คือ อะไร แล้วคุณค่านั้นสร้างประโยชน์ใหม่ ๆ ในเรื่องใด เพิ่ม Gain ลด Pain หรือเพิ่ม Emotional Contribution ได้อย่างไร สุดท้ายถึงจะได้คำตอบว่าเราจะสร้างอะไร ไม่เช่นนั้นผู้เริ่มสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ จะติดกับดักของการสร้าง “THING” ที่ เห็นคุณค่าที่จะเกิดขึ้นไม่ชัดเจน ไม่ตอบโจทย์ใครเลย การสร้างนวัตกรรมจึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงการใช้เทคโนโลยีสูงๆ ใช้ AI ใช้ Robot หรือ ยกระดับสินค้า บริการ ให้ชาวบ้าน แต่สุดท้ายชาวบ้านไม่ได้นำไปใช้จริง เพราะไม่ตรงกับปัญหาและความท้าทายที่เขามี
สิ่งสำคัญ คือ เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ (Tools) ที่ช่วยให้เกิดนวัตกรรม และ นวัตกรรมทุกตัวไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยี (Technology) … “นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องหรูหราแต่สร้างคุณค่าได้ทันที”
สำหรับผู้เริ่มต้นสร้างนวัตกรรมที่อยากได้แนวทางของกระบวนการอื่นๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ตามด้านล่างนี้ค่ะ การสร้างนวัตกรรมสามารถเริ่มต้นได้จากหลายวิธี เช่น การเริ่มต้นจากองค์ความรู้ใหม่ ๆ ความเชี่ยวชาญองค์กร สิ่งที่ตลาดต้องการ หรือ สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ เป็นต้น