ทำความรู้จักการวัดผลกระทบทางสังคม SIA

image

ทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SIA

ผลกระทบทางสังคม?

ผลลัพธ์หรือผลกระทบทางสังคม (Social Impact) คือ ผลการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากการทำงานของเรา ซึ่งควรสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ของเรา ดังนั้นเราควรรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไร ต้องการผลลัพธ์ที่เราอยากสร้างขึ้นหรือไม่

หากเราไม่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร การตั้งสมมติฐาน (ถ้า….แล้ว…….) เพื่อแก้ปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายเราเผชิญหรือต้องการเปลี่ยนแปลงอยู่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการประเมินว่าต้นแบบที่เราทดสอบอยู่ (proyotyping) มีความสามารถในการสร้างผลกระทบทางสังคมได้มากน้อยเพียงใดและไปในทิศทางใด เพื่อทำให้เรากลับมาพัฒนาต้นแบบให้ไปในทิศทางที่แก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

เราสามารถตรวจสอบว่าการทำงานของเราสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยลองถามตัวเองว่า

‘ถ้าเราหยุดทำสิ่งนี้ในวันนี้ อะไรที่จะไม่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายของเรา?’ คำตอบของคำถามนี้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโครงการของเรานั่นเอง

หากเรายังไม่มีคำตอบ แสดงว่าการดำเนินงานหรือกิจกรรมของเราอาจยังเดินไปไม่ถูกทิศกับเป้าที่เราตั้งใจ หรือเรายังมีเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน การลองเริ่มต้นวางแผนเก็บผลลัพธ์ทางสังคมจะช่วยให้เราสร้างความชัดเจนให้เป้าหมายและสามารถเดินทางพิชิตเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ

การประเมินผลกระทบทางสังคมมีประโยชน์อย่างไร?

  • ทำให้เราได้ทบทวนว่าโครงการของเราอยากสร้างผลลัพธ์อะไรบ้าง คนวงกว้างแค่ไหนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของเราบ้าง
  • เมื่อจบโครงการจะได้วัดว่าเราสร้างผลลัพธ์ได้ตามที่วางแผนไว้หรือไม่ สำเร็จหรือไม่?
  • นำข้อมูลไปสื่อสารกับสาธารณะให้เข้าใจงานของเราได้ง่ายขึ้น เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
  • นำข้อมูลไปสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมได้
  • ในระยะยาวสามารถประเมินความคุ้มค่าของโครงการ (Social Return On Investment : SROI) ได้
  • มีข้อมูลในการวางแผนบริหารงบประมาณและกำลังคนที่ใช้ในโครงการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น หากเราอยากได้ผลลัพธ์ A มากกว่า B เราก็สามารถโฟกัสได้ว่าจะทำสิ่งที่ทำให้เกิด A

การวางแผนผลลัพธ์หรือผลกระทบทางสังคม (SIA)

image

การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม มี 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ

  1. การนิยาม (Define) ว่าเรากำลังจะทำอะไรเพื่ออะไร
    1. เครื่องมือที่ใช้

    2. Theory of Change (TOC) ใช้ทบทวนเป้าหมายให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ที่สามารถออกแบบตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลลัพธ์ได้
    3. ผลผลิตที่ได้

    4. เป้าหมายและพันธกิจขององค์กรที่ชัดเจน
    5. กลุ่มเป้าหมายหลักที่เราสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ
  1. ระบุผลลัพธ์ที่วัดได้ (Quantify)

เครื่องมือที่ใช้

  • Impact Value Chain : IVC
  • Year Plan

เพื่อดูว่ากิจกรรมที่เราทำอยู่มีอะไรบ้างที่สามารถออกแบบตัวชี้วัด และสอดคล้องกับเป้าหมายของเรา

ผลผลิตที่ได้

  • ต้นแบบชุดตัวชี้วัดที่สะท้อนผลลัพธ์จากการทำงานของเรา
  1. การแปลงเป็นมูลค่าการเงิน (Monetize) สำหรับองค์กรหรือกิจการที่ต้องการวัดผลตอบแทนจากการลงทุน (SROI :Social Return on Investment) ขั้นตอนนี้เหมาะสำหรับองค์กรที่มีวิสัยทัศน์การทำงานที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ได้ทดสอบชุดตัวชี้วัดที่สะท้อนผลลัพธ์ทางสังคม จนได้ชุดตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนผลลัพธ์ทางสังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กรแล้ว

เครื่องมือที่ใช้

  • Cost-Benefit Analysis การคำนวณเปรียบเทียบต้นทุนกับผลประโยชน์

ผลผลิตที่ได้

  • ผลตอบแทนจากการลงทุน

7 Principles : หลักการการประเมินผลกระทบทางสังคม

  1. คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งทำได้ตั้งแต่การร่วมระบุว่าผู้มีส่วนได้เสียมีใครบ้าง ไปจนถึงการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  2. เข้าใจสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยให้มีการบันทึกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างละเอียด ทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและเชิงลบ กับการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
  3. ใช้ ’ค่าแทนการเงิน’ มาใช้ตีค่าทางการเงินของผลลัพธ์ เช่น ค่าแทนผลลัพธ์ทางสังคมที่เด็กและเยาวชนกลุ่ม LGBTQ+ มีสุขภาพจิตดีขึ้น อาจแทนด้วย รายได้ที่ลดลงของจิตแพทย์คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น เป็นต้น
  4. รวมเฉพาะสิ่งที่เป็นสาระสำคัญและเชื่อมโยงกับกิจกรรมหลักเท่านั้น เก็บข้อมูลเฉพาะปัจจัยที่สำคัญมาวิเคราะห์ โดยใช้กฎจำง่าย (Rule of Thumb) ดูรายละเอียดในหัวข้อ ข้อควรระวังในการทำ SIA ด้านล่าง
  5. หลีกเหลี่ยงการกล่าวอ้างเกินจริง เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากที่ประเด็นทางสังคมที่เรากำลังพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น มีองค์กรอื่นๆ กำลังทำงานกับประเด็นนี้อยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรระวังไม่เหมารวมว่าผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มาจากโครงการของเราเท่านั้น
  6. เน้นความโปร่งใสทุกขั้นตอน ทั้งการเก็บข้อมูล ชี้แจงที่มาของข้อมูล ตัวชี้วัด และมาตรฐานที่ใช้ เมื่อประเมินเสร็จ ควรสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบ พร้อมบอกแนวทางที่จะนำผลการประเมินไปใช้ในอนาคต
  7. พร้อมรับการตรวจสอบ โดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก เนื่องจากจะทำให้การประเมินของเรามีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

ข้อควรระวังในการทำ SIA

กฎจำง่าย (Rule of Thumb)

  • เลือกประเมินผลลัพธ์ไม่เกิน 3 กิจกรรมที่สำคัญที่สุด ไม่ควรตั้งหลาย outcomes เพราะหลาย outcomes = หลาย activities = หลาย stakeholders ซึ่งจะทำให้เราไม่รู้ว่าเรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นจริงได้ และอาจทำให้เราหลงทาง ทำมากได้น้อย
  • ประเมินเฉพาะผลลัพธ์ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เราสัมภาษณ์หรือสำรวจ
  • เน้นเฉพาะประโยชน์ทางตรงที่ชัดเจนว่าเกิดจากโครงการเรา (มีหลักฐาน)
  • นับแต่ประโยชน์ทางตรง ไม่นับประโยชน์ทางอ้อม เช่น เราทำกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็ก แต่ในกิจกรรมมีปราชญ์ชุมชนมาช่วยทำกิจกรรมให้เด็กๆ มัธยมต้นด้วย จะวัดผลกระทบที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเฉพาะเด็กมัธยมต้นเท่านั้น แม้ปราชญ์ชุมชนจะได้ประโยชน์ด้วย คือ มีกิจกรรมทำลดความเหงาจากการอยู่บ้านคนเดียว แต่ถือว่าประโยชน์นี้เป็นประโยชน์ทางอ้อมของกิจกรรมหรือโครงการของเรา ไม่นับเป็นประโยชน์ทางตรง

เริ่มต้นออกแบบตัวชี้วัดผลกระทบทางสังคมกันเลย คลิก

อ่านบทความ Knowledge เรื่องอื่น ๆ ได้ที่…

นวัตกรรม คือ อะไร?
Prototype : วิธีแปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างแบบติดจรวด
Effective Communicating การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
Active Listening การฟังเชิงรุก
เริ่มต้นออกแบบตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลกระทบทางสังคม
ทำความรู้จักการวัดผลกระทบทางสังคม SIA
มองรอบด้านเพื่อวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยง (Oppotunity&Threat)

อ้างอิง

หนังสือคู่มือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน ฉบับปรับปรุง 2560