สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 2

ในตอนที่ 1 ของเรื่องภาวะมลพิษทางอากาศ เราได้รู้จักกับ PM2.5 และอันตรายของมลพิษทางอากาศกันไปแล้ว ในตอนนี้เราจะพาไปลงในรายละเอียดถึงที่มาของปัญหาและแนวทางการแก้ไข รวมถึงไอเดียจากโครงการต่างๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดกันได้

image

มลพิษทางอากาศส่วนมากเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปฎิกิริยาการเผาไหม้ที่ทำให้กลายเป็นฝุ่นขนาดเล็ก ด้วย 5 แหล่งกำเนิดหลักๆ ได้แก่ การเผา การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคม การผลิตไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงในบ้านและร้านค้า เรียงจากปริมาณการปล่อย PM2.5 มากไปน้อยของปี 2561

ด้วยลักษณะพิเศษของฝุ่นที่บางเบา อาจจะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ หรือถูกพัดพาไปพื้นที่อื่นได้ง่าย การป้องกันและจัดการฝุ่นที่ปลายทางไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน การลดปริมาณฝุ่น และจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่นที่เกิดจากกิจกรรมของคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ อีกทั้ง ยังช่วยลดฝุ่นทุติยภูมิที่เกิดจากการแปรสภาพของสารได้อีกด้วย

เราจะขอพูดถึงแหล่งกำเนิดมลพิษจากกิจกรรมของคนด้วย 3 อันดับแรก รวมเป็น 83% แหล่งกำเนิด PM2.5 ทั้งหมด ได้แก่ การเผา การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคม ดังนี้

การเผา

ในระยะเวลา 11 เดือน (ณ วันที่ 1 ต.ค. 61 - 1 ส.ค. 62) ประเทศไทยมีรายงานการดับไฟถึง 7,295 ครั้ง และมีพื้นที่ถูกไฟไหม้เกือบ 140,000 ไร่ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ในภาคเหนือ 102,363 ไร่ โดยเป็นเพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ถึง 36,744 ไร่ หรือประมาณ 1/4 ของการดับไฟที่ได้รับการรายงานทั้งหมด

หลายคนอาจจะนึกภาพไฟป่า หรือการเผาทำพื้นที่การเกษตรของชาวชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริง ไฟป่าธรรมชาติเกิดขึ้นเองน้อยมาก ส่วนการทำไร่หมุนเวียนของชาวชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ก็มีการควบคุมความปลอดภัยด้วยแนวกันไฟ และเป็นพิธีกรรมที่ยั่งยืนต่อธรรมชาติ (ป่าที่เกิดใหม่จากการเผาของไร่หมุนเวียนสามารถดูดซับมลพิษได้ดีกว่าป่าเดิม) และสาเหตุที่แท้จริงในการเกิดไฟในป่าส่วนใหญ่เกิดจากการแกล้งเผา หาของในป่า/ล่าสัตว์ ความคึกคะนอง/ความประมาท ซึ่งเป็นกิจกรรมของคนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของควันพิษปริมาณมากเกิดจากการเผาในการเกษตรและการเผาขยะมูลฝอย

จากบทสรุปงานวิจัยพบว่า ในปัจจุบัน ประมาณ 70% ของพื้นที่การเกษตรประมาณ 60 ล้านไร่ทั่วประเทศนั้นปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น นาข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดและอ้อย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน และเนื่องจากพืช “เศรษฐกิจ” เหล่านี้จำเป็นต้องใช้พื้นที่กับเคมีจำนวนมากในการปลูก ทำให้เกิดขยะและทิ้งซากพืชจำนวนมากหลังการเก็บเกี่ยว

ยกตัวอย่างปริมาณซากพืชจากการปลูกข้าวทั่วประเทศ ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 26.46 ล้านตันต่อปี มีฟางข้าวเฉลี่ยประมาณปีละ 42.33 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณ เกือบ 2 เท่าของผลผลิต ประกอบกับสภาพดินขาดแร่ธาตุ (แร่ธาตุในดินหายไปอยู่ในส่วนของพืช) ทำให้เกษตรกรมักใช้การเผาในจัดการกับซากพืชและถุงเคมีต่างๆ พร้อมกับปรับหน้าดิน เพราะเป็นวิธีที่สะดวก ง่าย ถูก และรวดเร็วที่สุด โดยในพื้นที่ภาคอีสานเป็นการปลูกข้าวเจ้าสลับกับข้าวเหนียว (อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์) และพื้นที่ภาคเหนือนั้นจะเป็นการปลูกข้าวโพดและข้าว (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) ส่วนภาคกลาง (สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี) และภาคใต้ (นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง) เป็นการปลูกพืชชนิดเดียวทั้งปี

แนวความคิดเดียวกันถูกนำไปใช้กับการจัดการขยะ ทั้งที่เป็นการเผาทำลายขยะในระดับบุคคลและชุมชน ไปถึงระดับรัฐบาล เนื่องจากจำนวนขยะใหม่และขยะตกค้างมีมากขึ้นทุกวัน ไม่สามารถจัดการได้ทัน ทำให้ขยะล้น การเผาขยะจึงเป็นทางออก ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเผาจะเป็นวิธีที่ง่าย ถูก และเร็ว แต่ทั้งสองกิจกรรมนั้นก็ยังไม่มีการจัดการดูแลการเผาที่ดีพอ ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและธรรมชาติ โดยการเผาเศษพืช 1 ตัน จะทําให้เกิดฝุ่นละอองปริมาณ 7-14 กิโลกรัม ในขณะที่การเผาขยะ 1 กิโลกรัมจะทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็ก 19 กรัม และหากมีพลาสติกปนอยู่ จะมีสารอินทรีย์ระเหย (สารก่อมะเร็ง) เกิดขึ้นเพิ่มอีก 14 ก. ต่อขยะ 1 กก.= เมื่อสารเหล่านี้ถูกดูดซึมในปริมาณมาก จะเป็นอันตรายต่อดวงตา และในระยะยาว จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ปวดหัว อ่อนเพลีย อ่อนแอ และอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

image

อุตสาหกรรมการผลิต

อุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็น 17% ของแหล่งกำเนิด PM2.5 แต่เป็นแหล่งกำเนิดที่สร้างก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ (SO2) ถึง 50% ของทั้งหมด ซึ่งก๊าซ SO2 เมื่อสูดดมเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้น้ำฝนเป็นกรด ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ แม่น้ำลำคลอง ทำให้ต้นไม้ใบเหลือง และยังกัดกร่อนอาคารบ้านเรือน โบราณสถานต่างๆ อีกด้วย

ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เรามีโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากในพื้นที่แคบ อีกส่วน ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นอยู่ใกล้หรือติดกับชุมชน โดยไม่มีการแบ่งระยะกันชน (Buffer Zone) ในขณะที่การขอตั้งโรงงานในต่างประเทศนั้น จะมีการบังคับให้ผู้ขออนุญาตศึกษาและส่งรายงานมาตรการป้องกันต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ESA - Environmental Safety Assessment) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA - Environmental Impact Assessment) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในด้านสุขภาพของประชาชน (EHIA - Environmental Health Impact Assessment) ก่อนตั้งโครงการ  รวมถึงมีการบังคับให้โรงงานติดเครื่องวัดมลพิษจากปากปล่องเช่นเดียวกับวัดที่ปล่อยน้ำเสีย ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ และป้องกันตัวเองจากมลพิษได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาขออนุญาตตั้งโรงงานในประเทศไทยนั้นอนุญาตให้ผู้ประกอบการส่งรายงานดังกล่าวโดยสมัครใจ โรงงานส่วนใหญ่จึงไม่รายงานปริมาณมลพิษที่สร้าง ทำให้การตรวจสอบหาแหล่งที่มาของมลพิษเป็นไปได้ยาก

จากสถิติสะสมจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรม 140,535 แห่ง โดยจังหวัดที่มีโรงงานมากที่สุดอันดับ 1 คือกรุงเทพฯ คิดเป็น 12.21% ของจำนวนโรงงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งมีจำนวนโรงงานมากกว่าอันดับที่ 2 คือ สมุทรปราการ เกือบ 10,000 โรงงาน ตามมาด้วยนครราชสีมา สมุทรสาคร และชลบุรี และเมื่อดูจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมน้อยที่สุด ได้แก่ กระบี่ แม่ฮ่องสอน บึงกาฬ สิงห์บุรี และนครนายก ก็ล้วนแต่เป็นจังหวัดที่มีมลพิษทางอากาศในระดับต่ำตามเช่นกัน

image

การคมนาคม

เป็นอีกแหล่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยสารพิษที่ออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาไหม้ระหว่างเชื้อเพลิง ซึ่งปริมาณการระบายสารมลพิษจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ คุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ อุปกรณ์ในการควบคุมมลพิษ รวมไปถึงการบำรุงและดูแลรักษาเครื่องยนต์

ปัจจุบันประเทศไทยมีรถสะสม ถึง 38 ล้านคัน และเมื่อดูสถิติ พบว่ารถบรรทุกและรถโดยสารของไทยกว่า 71% ที่ใช้น้ำมันดีเซลนั้นเป็นรถเก่าที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป ส่วนในกรุงเทพเอง มีถึง 76% ซึ่งกฎหมายกำหนดให้รถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไปจะต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปี ส่วนรถโดยสารและรถบรรทุกขนาดใหญ่ต้องตรวจสภาพรถทุกปี

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้รถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ หรือรถบรรทุกใช้เครื่องยนต์มาตรฐาน Euro 3 เท่านั้น ซึ่งการกรองมลพิษก่อนปล่อยออกตามท่อของมาตรฐาน Euro 3 นั้น ทำได้น้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ  ที่ปรับเป็นมาตรฐานที่ Euro 5-6 (ต่างกัน 80%) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใช้ร่วมกับน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานต่ำก็จะทำให้ยิ่งเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เกิดเป็นควันดำ ควันพิษ

รถยิ่งเก่า ยิ่งใหญ่ ยิ่งอันตราย

รถที่ใช้น้ำมันเบนซิน (รถส่วนตัว รถสามล้อ รถจักรยานยนต์) จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ในขณะที่รถเครื่องน้ำมันดีเซล (รถกระบะ รถโดยสาร รถบรรทุก) จะปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) และควันดำ ซึ่งรถดีเซลขนาดใหญ่เป็นแหล่งการเกิด PM2.5 และมลพิษทางอากาศที่มากกว่ารถประเภทอื่น คิดเป็น 2-9 เท่าเลยทีเดียว

ยกตัวอย่าง รถกระบะ 3,000 คันจะสร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก 120 กรัมใน 1 วัน ขณะที่รถบรรทุกขนาดใหญ่ 70 จะสร้าง PM2.5 ถึง 19 กิโลกรัม ในระยะเวลาเท่ากัน

ยิ่งแล่นช้า ยิ่งเพิ่มฝุ่น

1 ใน 3 ของรถทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ในกรุงเทพและเมืองใหญ่ อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง สระบุรี ภูเก็ต หาดใหญ่ ทำให้รถติดหรือขยับตัวช้าลงตามจำนวนรถและความสามารถในการรับจำนวนรถของแต่ละเมือง

อย่างถนนในกรุงเทพนั้นถูกออกแบบมาสำหรับรถจำนวน 3 ล้านคัน แต่ปัจจุบันมีรถอยู่ในกรุงเทพจำนวน 10 ล้านคัน เป็นเหตุผลร่วมที่ทำให้การคมนาคมเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นจำนวนมาก

ประเภทรถยนต์ดีเซล
วิ่งความเร็ว
อัตราการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
ขนาดเล็ก - รถกระบะ
30 กม./ชม.
0.043 กรัม
60 กม./ชม.
0.036 กรัม
80 กม./ชม.
0.034 กรัม
ขนาดเล็ก - รถตู้
30 กม./ชม.
0.109 กรัม
60 กม./ชม.
0.089 กรัม
80 กม./ชม.
0.081 กรัม
ขนาดใหญ่ - รถบัส
30 กม./ชม.
638 กรัม
60 กม./ชม.
580 กรัม
80 กม./ชม.
560 กรัม
ขนาดใหญ่ - รถบรรทุก
30 กม./ชม.
273 กรัม
60 กม./ชม.
256 กรัม
80 กม./ชม.
251 กรัม

ที่มา กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ

image

มีใครทำอะไรอยู่บ้าง

หมู่บ้านกะเหรี่ยงป่าแป๋ - ดอยจ๊ะโข่ลำพูน

กลุ่มชาวชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ป่าเขามักจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองว่าทำให้เกิดไฟป่า ในความเป็นจริง ชาวกระเหรี่ยงปกาเกอะญอนั้นมีวิธีชีวิตที่ผูกพันกับป่าน้ำ แม้พวกเขาจะเผาป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียนในฤดู อย่างไรก็ดี กระบวนการนั้นเป็นการเผาเพื่อฟื้นฟูป่าในเขตดินเสีย โดยมีการจัดวงจรการเผา แบ่งเขตและวางแนวกันไฟ ทำให้การเผาในไร่หมุนเวียนดูดซับมลพิษมากกว่าเป็นการเพิ่มมลพิษ ซึ่งได้ถูกคำนวนมาแล้วว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นวิธีคืนชีวิตให้ป่าได้ดีที่สุด นอกจากนี้ พวกเขายังอาสาดับไฟป่า สร้างแนวกันไฟ และปลูกป่าทดแทนเมื่อเกิดไฟป่าในพื้นที่ของตน

PlanToys

บริษัทผลิตของเล่นเด็กที่มีแนวคิดเดียวกันกับ ‘แม่’ ที่ต้องการให้ลูกอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและเสริมสร้างพัฒนาการของลูกผ่านของเล่น ซึ่งการผลิตของเล่นไม้นั้นโดยทั่วไปจะสร้างขยะและฝุ่นจำนวนมาก แต่การผลิตของเล่นที่ PlanToys นั้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพยายาม upcycle ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่นำไม้ยางที่จะถูกเผาทิ้งกลับมาทำเป็นของเล่น และนำเศษไม้เหลือใช้ไปผลิตไฟฟ้า ส่วนฝุ่นขี้เลื่อยที่เกิดจากการเลื่อยไม้มาอัดเป็นของเล่น PlanWood™️ กระทั่งการจัดการขยะอย่างเป็นระบบทั้งโรงงาน

Breathe London

หลายปีหลังจากการตั้งมาตรฐานความปลอดภัยค่า PM2.5 ในประเทศอังกฤษ แต่ยังไม่สามารถควบคุมให้ค่าฝุ่นละอองดังกล่าวต่ำกว่ามาตรฐานได้เลย อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอากาศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย นายกเทศมนตรี Sadiq Khan จึงริเริ่มโครงการ Breathe London โดยการร่วมกับ Google ในการติดเซนเซอร์บนรถ Street View และตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง เพื่อทำ Data Analytics และจัดทำแผนที่ ให้ข้อมูล real time เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย

สวนแนวตั้งบนเสาทางด่วนที่ Mexico City

เมืองเม็กซิโกเป็นอีกเมืองใหญ่ที่มีปัญหาฝุ่นควันจากรถจำนวนมาก รัฐบาลจึงได้เริ่มโปรเจกต์ Vie Verde ปลูกสวนแนวตั้งตามเสาทางด่วน ยาว 27 กิโลเมคร เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยผลวิจัยระบุว่าโปรเจกต์ดังกล่าวจะช่วยดูดซับก๊าซพิษถึง 27,000 ตัน และให้อากาศสะอาดหรืออ๊อกซิเจน สำหรับคนเมือง 25,000 คน คิดเป็นพื้นที่สีเขียว 30,000 ตารางเมตร โดยมีแผนจะสร้างเพิ่มอีก 40,000 ตารางเมตรบนเสาอีก 700 ต้น

China - No Motorcycle Endorsement

รัฐบาลจีนออกนโยบายในการกำจัดรถมอเตอร์ไซค์และจำกัดจำนวนรถยนต์ในเมืองใหญ่ โดยเริ่มจากการสื่อสารให้คนเห็นว่ามอเตอร์ไซค์เป็นสิ่งไม่จำเป็นและเป็นแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษ และออกมาตราการไม่ต่ออายุใบอนุญาตประจำปีรถมอเตอร์ไซค์ และไม่ออกทะเบียนให้รถมอเตอร์ไซค์ พร้อมกับพัฒนาทางเลือกอื่นแทนการใช้มอเตอร์ไซค์ให้กับประชาชน เช่น ทางเท้า รถไฟใต้ดิน รถเมล์ แท็กซี่ และส่งเสริมการใช้จักรยานไฟฟ้า พร้อมกับรับซื้อคืนมอเตอร์ไซค์เก่าอีกด้วย

ช่องว่างและโอกาสในการแก้ไข

ใน 1 วัน มนุษย์หายใจเอาอากาศเข้าไปถึง 20,000 ลิตร อากาศที่ไม่ดีจึงทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การจัดการและการลดมลพิษทางอากาศจึงสำคัญมากในการเสริมระดับคุณภาพชีวิต และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่การจัดการจะเป็นไปไม่ได้เลยหากเรายังขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณมลพิษในระดับชุมชน ณ เวลาจริง ที่เชื่อถือได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้คนหลายๆ กลุ่มยอมรับและตระหนักถึงปัญหาฝุ่นแม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และสามารถนำไปวางแผนป้องกันตนเองจากมลพิษได้ รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ควบคุม ป้องกัน และตัดสินใจไม่ให้เกิดมลพิษเกินขนาดตั้งแต่ต้นด้วย ส่วนภาครัฐก็สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น และยังสามารถนำข้อมูลไปพยากรณ์ และออกแบบแนวทางการกำหนดช่วงเวลาให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มลพิษสูงได้ เช่น เวลาเข้างานช้ากว่าเข้าเรียน

อีกหนึ่งปัญหาที่ทับซ้อนอยู่ในประเด็นมลพิษทางอากาศคือ ปัญหาความเลื่อมล้ำ โดยพื้นที่รายได้ต่ำมักจะมีคุณภาพอากาศต่ำไปด้วย เมื่อมีปัญหาแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาและป้องกันตัวจากฝุ่นก็มักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ของประชาชนดูแลตัวเอง ซึ่งประชาชนหลายกลุ่มก็ไม่มีความรู้ในการรับมือกับ PM2.5 หรือคิดว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบ (46.69% ของผู้ให้ข้อมูลในนิดาโพล กล่าวว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากปัญหามลพิษ) ทำให้ไม่ได้ป้องกันตัว ผ่านหน้ากาก หรือเครื่องกรองอากาศ และแม้จะเข้าใจถึงความรุนแรงและต้องการจะป้อง ก็อาจจะไม่สามารถทำได้เนื่องจากสินค้าบางชนิดขาดตลาดและมีราคาสูง

เมื่อเทียบข้อมูล Hotspot (จุดแสดงความร้อนจากการเผา) ในระดับประเทศแล้วพบว่ามีการเผาในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าในประเทศไทย อย่างไรก็ตามลมมรสุมและสภาพทางธรณีทำให้ลมพัดพาควันเข้ามาในประเทศไทย (ควันจากรัฐฉานของพม่าและทางตอนเหนือของลาวเข้าภาคเหนือและอีสานของไทย ส่วนควันจากอินโดนีเชียเข้าภาคใต้ตอนล่างของไทย) ดังนั้น เราจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาควันพิษได้อย่างหมดจด หากไม่ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

แหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 นั้น เกิดจากการเผาในที่โล่งหลายรูปแบบ ได้แก่ การเผาเพื่อจัดการขยะและฟื้นหน้าดินในการเกษตรเชิงเดี่ยว และการทำไร่หมุนเวียน ดังนั้น หากมีระบบจัดการการเผาในที่โล่งผู้ที่ต้องการเผาให้ไม่เผาพร้อมกัน หรือให้หลีกเลี่ยงการเผาในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสะสมมลพิษ จะเป็นการช่วยควบคุมความรุนแรงของมลพิษทางอากาศให้อยู่ในระดับปลอดภัย

กรมอุตสาหกรรมมีอำนาจ แต่ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาระยะห่างจากสถานที่อยู่อาศัยและแหล่งปล่อยมลพิษ (Buffer zone) เมื่อเกิดมลพิษทางอากาศที่เกินมาตราฐานความปลอดภัยของ WHO หรือของประเทศไทยเอง ภาครัฐก็ยังไม่มีการรับมือที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ทำให้ประชาชนยังต้องออกจากบ้านเพื่อเข้าเรียนหรือทำงานตามปกติ อีกทั้ง ก็มีประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ไม่มีความรู้ในการรับมือกับมลพิษทางอากาศ จึงไม่ได้ป้องกันตัวด้วยหน้ากากหรือเครื่องกรองอากาศ และแม้จะเข้าใจถึงควานรุนแรงของปัญหาและต้องการจะป้องกันตัวเอง ก็ไม่อาจจะหาอุปกรณ์ป้องกันได้ เนื่องจากขาดตลาดหรือถูกขายในราคาที่สูงเกินจริง

ในด้านการบริหารจัดการขนส่ง ควรส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงสะอาด (Clean and Renewable Fuel) เช่น ยานพาหนะไฟฟ้า ส่งเสริมและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ ราคาถูก เข้าถึงง่าย ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน (Eco) มากขึ้น หรือสนับสนุนการใช้จักรยาน หรือพัฒนาทางเท้า เพื่อลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว

มีการพิสูจน์แล้วว่าการปลูกต้นไม้เป็นการป้องกันมลพิษทางอากาศที่ถูกและให้ผลตอบแทนด้านลดปัญหาฝุ่นควันที่ดีที่สุด แถมยังให้ผลลัพธ์เชิงบวกอื่นๆ เช่น อุณหภูมิที่เย็นสบาย พื้นที่สาธารณะ และเสริมสุขภาพจิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย

อ้างอิง

อ่านบทความอื่นๆ

What is Insight? ข้อมูลเชิงลึกของปัญหาคืออะไร และสำคัญอย่างไร?
สถานการณ์ปัญหา : สุขภาพจิตวัยรุ่น
สถานการณ์ปัญหา : ขยะในประเทศไทย
สถานการณ์ปัญหา : การกลั่นแกล้งกันของเด็กและเยาวชน (Bullying)
สถานการณ์ปัญหา : รัฐสวัสดิการกับการแก้ปัญหาสังคม ตอนที่ 2
สถานการณ์ปัญหา : รัฐสวัสดิการกับการแก้ปัญหาสังคม ตอนที่ 1
สถานการณ์ปัญหา : เด็กออกกลางคัน
สถานการณ์ปัญหา : เด็กไม่เรียนต่อ
สถานการณ์ปัญหา : เด็กไม่ได้เข้าเรียน
สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 2
สถานการณ์ปัญหา : ภาวะมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ตอนที่ 1
Insight : Mental Health at Work ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน