สำหรับโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมที่เดินทางมาถึงขั้นตอนการเตรียมลงมือทำ Prototype เพื่อทดสอบโมเดลทางสังคม (Social Model) ของตนเองแล้ว เราอาจจะพบกับข้อจำกัดของเวลาและทรัพยากร เช่น มีกิจกรรมที่อยากทำหลายอย่าง จะเลือกทำสิ่งใดก่อนดี หรือวิธีการวัดผลลัพธ์ที่เกิดจากโมเดลทางสังคมของเรา ควรวัดผลแบบไหนและใช้ตัวชี้วัดอะไรได้บ้าง
Impact Value Chain หรือ IVC (ห่วงโซ่ผลลัพธ์) เป็นเครื่องมือช่วยสรุปภาพรวมที่แสดงความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ ในการดำเนินงานของโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม ซึ่งประกอบไปด้วย กิจกรรมหลักของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคม (Activities) ทรัพยากรที่ใช้ในการทำกิจกรรม (Inputs) ผลผลิตระยะสั้นที่เกิดจากการทำกิจกรรม (Outputs) และในระยะยาวเมื่อเราสร้างผลผลิตอย่างต่อเนื่อง จะเกิดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างไรบ้าง (Outcomes)
ข้อดีของการทำ Impact Value Chain
- ช่วยให้โครงการหรือกิจการมองเห็นภาพรวมและเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ทรัพยากร กิจกรรมที่ทำ ผลลัพธ์ และผลผลิต เป็นภาพเดียว สามารถสื่อสารได้เข้าใจง่าย และตรงกันทั้งคนในทีม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นๆ
- ได้ตรวจสอบตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผลของโครงการ เช่น สมมติเราต้องการช่วยเหลือเด็กยากไร้ให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ทำโครงการต่างๆ ใช้เงิน 50,000 บาทผลิตเสื้อยืดเพื่อขายได้เงินมาหักค่าใช้จ่ายแล้วนำไปให้น้องๆ จบโครงการสามารถช่วยเหลือเด็กได้ทั้งหมด 10 คน คนละ 5,000 บาท เราจะพบว่า จริงๆ แล้ว ไม่ต้องทำกิจกรรมใดๆ เอาเงิน 50,000 บาทแบ่งให้เด็ก 10 คนไปเลยแต่แรก ก็ได้ผลลัพธ์เท่ากัน
- ช่วยให้เราวางแผนล่วงหน้า ออกแบบวิธีการในการเก็บข้อมูลผลผลิต/ผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็นแบบสอบถาม หรืออื่นๆ หากไม่ได้คิดเอาไว้ บางครั้งทำโครงการเสร็จไปแล้ว อาจจะไม่สามารถตามไปเก็บข้อมูลย้อนหลังได้
- ได้เห็นผลลัพธ์และผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมชัดเจน โดยบางกิจกรรมอาจจะไม่เกิดผลผลิต/ผลลัพธ์ที่เราต้องการ และช่วยให้ประเมินได้ว่า เราควรจะทำกิจกรรมนั้นๆ ต่อไปหรือไม่ หรือควรปรับอย่างไร
การเตรียมตัว
- ดาวน์โหลดฟอร์ม Impact Value Chain จาก IVC Worksheet หรือใช้กระดาษ A4, A3 ขีดเส้นแนวตั้ง 3 เส้น แบ่งออกเป็น 4 ช่องตามตัวอย่างจากรูปภาพ IVC Worksheet
- อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ดินสอ สีไม้หรือปากกาเมจิกสี
- ข้อแนะนำ เราสามารถเขียนข้อมูลลงในกระดาษ Post-it ขนาดเล็กแทนการเขียนลงไปใน Worksheet จะช่วยให้เราสามารถย้ายตำแหน่ง เพิ่มความสะดวกในการจัดเรียงข้อมูลได้ เนื่องจากเมื่อเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้วอาจจะพบว่ากิจกรรมบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับผลลัพธ์ (Outcome) ที่เราตั้งไว้ อาจจะมีการตัดออก หรือมีการเปลี่ยนผลผลิตให้สอดคล้องกับผลลัพธ์ เป็นต้น
Let’s do it (30-60 นาที)
1. Outcomes > 2. Outputs > 3. Activities > 4. Inputs
Step 1 “Outcomes” ผลลัพธ์
ระบุผลลัพธ์ทางสังคมที่เราตั้งใจอยากสร้างให้เกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้วผลลัพธ์มักเป็นภาพความสำเร็จที่เราอยากเห็น ถ้าเราแก้ไขปัญหานั้นสำเร็จ (Vision) เป็นเป้าหมายระยะยาวของการทำโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมนั้นๆ เพราะการเกิดผลลัพธ์ทางสังคมมักจะใช้เวลานานหลายปี และต้องเกิดจากการที่เราสะสมผลผลิต (Outputs) อย่างเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
ตัวอย่าง
- โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มีผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ“ชุมชนมีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ”
- โครงการพลังชุมชนบ้านบ่อสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มีผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ“เกิดความความสามัคคีระหว่างคนในชุมชนบ้านบ่อ”
- โครงการ Sex Education มีผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ“เยาวชนมีความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”
ข้อแนะนำ: หากโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมเคยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Theory of Change (TOC) มาแล้ว Outcome จะเป็นคำตอบเดียวกันกับในช่องของ Goal หรือ Vision ซึ่งเป้าหมายที่ดีเมื่ออ่านแล้วสามารถเห็นภาพชัดเจน หรือมีคุณสมบัติของ S.M.A.R.T Goal (Specific เฉพาะเจาะจง, Measurable วัดผลได้, Attenable ไม่เกินกำลังที่จะทำได้จริง, Relevant มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโดยตรง, Timely ระบุระยะเวลาชัดเจน)
Step 2 “Outputs” ผลผลิต หรือ ตัวชี้วัด
ระบุผลผลิตที่หากเราจะสร้างผลลัพธ์ (Outcomes) ที่อยากเห็นแล้ว ต้องมีผลผลิตอะไรบ้างที่เกิดขึ้น ผลผลิตที่อยู่ใน Impact Value Chain ควรจะ
- มีความสอดคล้อง นำไปสู่การเกิดผลลัพธ์ทางสังคมนั้นด้วย
- เป็นข้อมูลเชิงรูปธรรม สามารถวัดปริมาณได้ มีหน่วยวัดผลชัดเจน คำนวณได้โดยตรง ดังนั้นเราควรคำนึงถึงวิธีการวัดผลเช่นกันว่าจะเก็บเป็นปริมาณได้อย่างไร ควรใช้ตัวชี้วัดอะไร สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมหลัก (Activities) ของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคมนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
- อาจเกิดจากผลผลิตหลายตัวประกอบกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
ตัวอย่าง
- โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มีผลผลิตที่ต้องการวัดผล คือ“จำนวนเวลาที่ใช้ในการแยกขยะของเจ้าหน้าที่” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนเวลาที่ใช้ลดลง)“จำนวนครัวเรือนที่มีการแยกขยะ” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนครัวเรือนที่มีการแยกขยะมากขึ้น)
- โครงการพลังชุมชนสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มีผลผลิตที่ต้องการวัดผล คือ“จำนวนเวลาในการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกชุมชน” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนเวลาที่ใช้มากขึ้น)“จำนวนสมาชิกชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ด้วยความสมัครใจ” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น)“ความพึงพอใจของชาวบ้านที่มาร่วมทำกิจกรรม” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ ชาวบ้านที่มาร่วมทำกิจกรรมเกิน 80% มีความพอใจในระดับ 4 เต็ม 5)
- โครงการ Sex Education มีผลผลิตที่ต้องการวัดผล คือ“คะแนนจากแบบทดสอบความรู้เรื่องเพศศึกษา” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ คะแนนดีขึ้น)“จำนวนเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” (ผลผลิตที่คาดหวังคือ จำนวนเด็กวัยรุ่นเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลง
ข้อแนะนำ: หากไม่แน่ใจว่าสิ่งใดคือผลผลิต (Outputs) สิ่งใดคือผลลัพธ์ (Outcomes) ให้คำนึงไว้ว่าผลลัพธ์จะเกิดจากความพยายามที่เราสร้างผลผลิตให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผลผลิตเกิดหลังจากที่เราดำเนินกิจกรรมหลัก สิ่งที่ออกมาสามารถมองเห็น วัดผลได้ เช่น หากเราทำกิจกรรมสอนเรื่องการแยกขยะให้กับคนในชุมชน ผลผลิตที่เกิดขึ้นคือจำนวนครัวเรือนในชุมชนมีการแยกขยะมากขึ้น ปริมาณขยะที่ถูกแยกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากแต่ละครัวเรือนมีการแยกขยะอย่างต่อเนื่องในระยะยาวจะเกิดชุมชนที่มีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
เมื่อเขียนผลผลิตและผลลัพธ์ เราควรอ่านและตั้งคำถามว่า ผลผลิตที่เราผลิตได้นั้น นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ “ทางตรง” หรือไม่?
ตัวอย่าง
โครงการ Sex Educationมีผลลัพธ์ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ “เยาวชนมีความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”มีผลผลิตที่ต้องการวัดผลระยะสั้น คือ “จำนวนเยาวชนที่เข้าร่วมฟังบรรยายความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”
คำแนะนำ: ลองตั้งคำถามว่า จำนวนการผู้เข้าร่วมสามารถเป็นตัวชี้วัดสอดคล้องกับผลลัพธ์ที่เราต้องการหรือไม่ การที่เยาวชนเข้าร่วมฟังบรรยาย สามารถใช้บอกได้หรือไม่ว่าเยาวชนได้ความรู้กลับไปจริง หลายโครงการมักหยุดที่การวัดผลหลังจบกิจกรรม ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่ได้ความรู้ไปแล้วนั้น มีทักษะ และสามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดผลลัพธ์ที่เราต้องการหรือไม่ จึงควรมีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพอีกตัว เช่น “จำนวนเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” เพื่อเป็นตัวชี้วัดว่า กลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วย มีความรู้พื้นฐานจริง เป็นต้น
Step 3 “Activities” กิจกรรม
ระบุกิจกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างผลผลิต (Output) ที่เราต้องการ เราต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างเพื่อให้เกิดผลผลิตนั้นๆ สิ่งที่เราควรพิจารณาในการทำกิจกรรม คือ
- ผลผลิต 1 ตัว อาจมาจากหลายกิจกรรมประกอบกัน
- เมื่อวางแผนกิจกรรมหลัก เราควรวางแผนวิธีการวัดผลผลิตที่ต้องการด้วยว่าจะได้มาอย่างไร โดยกำหนดสิ่งที่จะใช้วัดผลให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น
- การเก็บผลผลิตที่ได้หลังจากการทำกิจกรรมอาจสามารถทำได้ทันที หรือ วางแผนตามเก็บเพิ่มเติมในระยะยาว การวางแผนไว้ล่วงหน้าจะทำเราให้เก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบางครั้ง หากเวลาล่วงเลยไป เราไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า อาจจะทำให้ข้อมูลผิดพลาด หรือไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง
- หลายโครงการมีกิจกรรมจำนวนเยอะมาก หากพบว่ากิจกรรมใดที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่ต้องการ เราก็ควรจะตัดออก ทั้งนี้ อาจจะตัดออกตั้งแต่แรก ที่ไม่เห็นความสอดคล้องของ กิจกรรม -> ผลผลิต -> ผลลัพธ์ หรือ บางครั้งต้องทดลองทำ เพื่อวัด “ปริมาณ” ผลผลิตที่เราต้องการ แล้วพิจารณาความคุ้มค่าของทรัพยากร ไม่ว่าจะเวลา เงิน หรืออื่นๆ กับ ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่ได้ ก่อนพิจารณาตัดออก หรือเก็บไว้
ตัวอย่าง
- โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มีกิจกรรมหลัก คือ“จัดสถานที่ตั้งถังขยะแบบแยกประเภทพร้อมคู่มือวิธีการใช้งานอย่างง่าย”“ทำเวิร์กชอปสอนเรื่องการแยกขยะให้กับสมาชิกในชุมชน”
- โครงการพลังชุมชนสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มีกิจกรรมหลัก คือ“จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ให้สมาชิกในชุมชน”“จัดกิจกรรมชวนสมาชิกในชุมชนทำความสะอาดบริเวณริมคลองในชุมชน”
- โครงการ Sex Education มีกิจกรรมหลัก คือ“เปิดเพจรับปรึกษาปัญหาเรื่องเพศ และทำเครือข่ายเพจที่เยาวชนมักจะเข้าไปส่งคำถามเรื่องเพศสัมพันธ์”“เผยแพร่ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบของการ์ตูนออนไลน์ สามารถเข้าอ่านได้ฟรี”“จัดทำแบบทดสอบความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”
Step 4 “Inputs” ปัจจัยนำเข้า
ระบุทรัพยากรที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมหลักของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคมตัวอย่างเช่น เงินทุน ทีมงาน อุปกรณ์ สถานที่ ฯลฯ
คำแนะนำ: หากสามารถระบุได้ชัดเจนจะช่วยให้เห็นความสอดคล้องกับกิจกรรมมากขึ้น เช่น ทีมงาน กี่คน ใช้เวลาทำงานสัปดาห์ละกี่ชั่วโมง เงินทุนที่ต้องใช้กี่บาท สถานที่ ใช้ทำอะไรบ้าง ประชุม จัดกิจกรรม
หวังว่า Impact Value Chain จะไม่ยากจนเกินไป หากมีคำถามหรือข้อสงสัย หรือกลับไปทำ IVC ของโปรเจกต์หรือกิจการเพื่อสังคมของตนเองแล้วต้องการให้ทีมงานช่วยเสริมให้ดียิ่งขึ้น สามารถติดต่อมาได้ที่ admin@schoolofchangemakers.com