หลักจากที่เราทำความเข้าใจปัญหามองเห็นสถานการณ์ปัญหาอย่างชัดเจน และอาจจะมี Problem Insights มาบ้างแล้ว จากนั้นมีการระดมไอเดียเพื่อหาวิธีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาโดยเน้นการใช้ทักษะ ความสนใจของสมาชิกในทีม ในบทความนี้จะพาทุกคนไปสู่การตั้งสมมติฐาน หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” (Theory of Change) ที่จะใช้เป็นหลักในการทดสอบว่า แนวคิดหรือวิธีการที่เราคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ อย่างไร ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมในภาพเดียว
Theory of Change แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. ภาพปัจจุบัน (What, When, Where, Why, Who ) ประกอบไปด้วย
- สถานการณ์ปัญหาและโอกาสหรือช่องว่างที่เราเลือกเพื่อนำมาแก้ไขปัญหา (Problem Situation, Insight)
- กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ที่เราทำงานด้วย (Target, Area)
2. ภาพอนาคตที่ต้องการ
- แสดงความสำเร็จที่อยากเห็น (Vision)
- เป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ (Goals)
3. กิจกรรม (How) ที่เราต้องทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงระหว่างภาพปัจจุบันไปสู่ภาพอนาคตที่ต้องการเห็น
ข้อดีของการทำ Theory of Change (TOC)
- ช่วยนำทาง เป็นเหมือนเข็มทิศทำให้โครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของเรามีความชัดเจนในสิ่งที่จะทำมากขึ้น และลงรายละเอียดสิ่งที่ต้องทำในขั้นต่อไปได้
- ช่วยในการสื่อสาร เวลาที่เราต้องสื่อสารกับคนอื่นๆ ทั้งทีมงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า ผู้ให้ทุน และเครือข่ายพันธมิตรของเราอีกด้วย เราสามารถเล่าโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของเราให้จบได้ในไม่กี่ประโยค ด้วยกระดาษเพียง 1 แผ่นเท่านั้น
- ช่วยไม่ให้หลงทาง หลายโครงการหรือกิจการเมื่อทำไปแล้ว ลืมตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาจจะมัวไปมุ่งเน้นที่ “กิจกรรมที่ทำ” การมี Theory of Change ที่อัพเดทอยู่เสมอ ช่วยให้กลับมาดูได้ว่า สิ่งที่ทำ ยังช่วยให้เรามุ่งไปสู่ Vision & Goal ที่ต้องการหรือไม่
- ช่วยในการวัดผล ใช้เป็นกรอบในการประเมินผลกระทบทางสังคมของโครงการหรือกิจการต่อไป (เป็นตัวตั้งต้นในการใช้ทำ Impact Value Chain)
การเตรียมตัว
- ดาวน์โหลดฟอร์ม Theory of Change จาก TOC Worksheet หรือใช้กระดาษ A4, A3 วาดช่องสี่เหลี่ยมและโยงลูกศรตามตัวอย่างจากรูปภาพ TOC Worksheet
- อุปกรณ์เครื่องเขียน ปากกา ดินสอ สีไม้หรือปากกาเมจิกสี
Let’s do it ( 30-60 นาที )
Step 1 Situation
1. “Target” กลุ่มเป้าหมายระบุกลุ่มเป้าหมายที่โครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของเราต้องลงไปทำงานด้วย กลุ่มเป้าหมายควรระบุให้ชัดเจน เมื่ออ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นใคร ลักษณะแบบใด มีจำนวนเท่าไหร่
ตัวอย่าง
- โครงการ Sex Education มีกลุ่มเป้าหมายคือ “นักเรียนชั้นมัธยมต้น-ปลาย อายุระหว่าง 11-19 ปี จำนวน 1,800 คน”
- โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มีกลุ่มเป้าหมายคือ “ลูกบ้านในหมู่บ้านทั้งหมด 150 หลังคาเรือน”
- โครงการพลังชุมชนบ้านบ่อสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มีกลุ่มเป้าหมายคือ “สมาชิกในชุมชนบ้านบ่อจำนวน 200 คน”
2. “Insight” โอกาส (Opportunity)/ ช่องว่าง (Gap)ระบุโอกาส (Opportunity) ที่โครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของเราเลือกเพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือช่องว่าง (Gap) ของปัญหาที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่รอให้คนเข้ามาจัดการเพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น
- Insight เกิดจากการทำความเข้าใจปัญหา กลุ่มเป้าหมาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จนเป็นกลุ่มข้อมูลเพื่อนำไปทำงานผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ หาโอกาส (Opportunity) หรือช่องว่าง (Gap) จนเกิดเป็นชุดข้อมูลความรู้ใหม่ในการใช้แก้ไขปัญหานั้น
ตัวอย่าง Insight จากโครงการ Sex Education
- จากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ครูและนักเรียนชั้นมัธยมจำนวน 50 คน ในจังหวัดชลบุรี พบว่า “ครูประจำวิชาสุขศึกษา ครูประจำชั้น รวมทั้งผู้ปกครองยังไม่มีวิธีการสื่อสาร การใช้ตัวอย่าง และการใช้เนื้อหาเรื่องเพศที่เหมาะสมให้วัยรุ่นแต่ละกลุ่ม (อายุตั้งแต่ 10 -19 ปี)” เพราะเพศเป็นเรื่องส่วนตัว ละเอียดอ่อน และมีความซับซ้อน ดังนั้นความรู้ทั่วไปเรื่องเพศศึกษาควรครอบคลุมตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อารมณ์ สังคมและจิตใจเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เพศวิถี ความหมายของการมีเพศสัมพันธ์ การเคารพสิทธิ์ของตัวเองและผู้อื่น จนถึงความรู้เกี่ยวกับการเป็นพ่อแม่
- จากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์แม่วัยรุ่นและครอบครัวจำนวน 5 ครอบครัว ในจังหวัดชลบุรี พบว่า “บทบาทของชายวัยรุ่นถูกละเลยไปจากเรื่องเพศในวัยรุ่น ซึ่งปัจจุบันมีพ่อวัยรุ่น 2 ใน 10 เท่านั้นที่เลี้ยงลูก” เมื่อพูดถึงการสอนเรื่องเพศส่วนใหญ่มีเนื้อหาเน้นการไปที่การป้องกันหรือการจัดการจากฝั่งผู้หญิง มากกว่าการสร้างการมีส่วนร่วมและการปลูกฝังความรับผิดชอบในวัยรุ่นชาย ทำให้เมื่อแฟนสาวเกิดตั้งครรภ์ วัยรุ่นชายที่ขาดทุนทรัพย์และความรู้ จึงไม่รู้สึก ‘พร้อม’ ที่จะดูแลและรับผิดชอบร่วมกับฝ่ายหญิง อีกทั้ง ยังมีอีกกรณีที่พ่อวัยรุ่นถูกมองว่าเป็นเด็กเลว เอาเปรียบฝ่ายหญิง จึงถูกกีดกันไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ในปัจจุบัน พ่อวัยรุ่น 8 ใน 10 หายไปหลังทราบข่าว และมีแม่วัยรุ่นที่ต้องเผชิญปัญหาโดยลำพังเป็นจำนวนมาก
คำแนะนำ เนื่องจากปัญหาสังคมเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex) ทำให้มีโอกาสและช่องว่างในการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ดังนั้น insight ของโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมหนึ่งอาจมี insight ได้หลายข้อ ซึ่งปัจจัยในการเลือก Insight ที่จะนำมาใช้ อาจมาจาก
- ความสนใจและความเชี่ยวชาญของทีมต่อ Insight นั้นๆ
- ความมีประสิทธิภาพของ Insight ในการสร้างผลกระทบทางสังคม
- การจำกัดของทรัพยากร เช่น จำนวนทีมงาน เวลา สถานที่ และเงิน
3. “Area” พื้นที่ทำงานระบุพื้นที่การทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ระบุในข้อ 1 การระบุพื้นที่เป็นตัวช่วยหนึ่งสำหรับการทำงานที่มีเวลาและทรัพยากรจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเราต้องเลือกพื้นที่ที่เราจะลงทำงาน พื้นที่ใดที่เหมาะจะเป็นพื้นที่ต้นแบบของโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของเราในช่วงแรก และใช้เป็นต้นแบบในการขยายโมเดลในอนาคต
ตัวอย่าง
- โครงการ Sex Education พื้นที่ทำงาน คือ “โรงเรียนมัธยมเด็กดี จังหวัดชลบุรี”
- โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล พื้นที่ทำงาน คือ “หมู่บ้านดีพร้อม เขตลาดพร้าว กทม.”
- โครงการพลังชุมชนบ้านบ่อสู่พลังการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ทำงาน คือ “ชุมชนบ้านบ่อ จังหวัดเชียงใหม่”
4. “Problem Situation” สถานการณ์ปัญหาอธิบายสถานการณ์ของปัญหาพอสังเขป เป็นการเล่าเพื่อให้เข้าใจว่าปัญหาคืออะไร ขนาด ความรุนแรงของปัญหา สาเหตุคืออะไรและมีผลกระทบอย่างไร
ตัวอย่างสถานการณ์ปัญหาจากโครงการ Sex Education
- ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (อายุ 10-19 ปี) เกิดจากการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ล้มเหลว เนื่องจากวัยรุ่นไม่มีความรู้เรื่องเพศ ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด หรือไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ นอกจากนี้วัยรุ่นยังขาดสิทธิ์ในร่างกายตัวเอง ความท้าทายในการยุติครรภ์ จึงจำต้องตั้งครรภ์ต่อไปโดยไม่มีความพร้อมในการดูแลครรภ์และบุตรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพเพราะขาดความรู้ ทักษะ วุฒิภาวะ ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ‘ความอยากเป็นแม่’ จึงทิ้งบุตรและเกิดการท้องซ้ำในท้ายที่สุด
- โดยจากสถิติล่าสุด ในปี 2560 ประเทศไทยมีหญิงคลอดบุตร ที่มีอายุระกว่าง 10-19 ปี จำนวน 84,578 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.8 ของการคลอดในหญิงไทยทั้งหมด
- หากปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกแก้ไขโดยเร็ว จะส่งผลให้ประชากรไทย ‘เกิดน้อยด้อยคุณภาพ’ เนื่องจากอัตราการแต่งงานและคลอดบุตรของหญิงวัยทำงานลดต่ำลงในทุกปี สวนทางกับสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ในอีก 20 ปีข้างหน้า วัยแรงงาน 1 คน จะต้องดูแลเด็ก 3 คนและผู้สูงวัย 6 คนโดย
Step 2 Vision and Goals
1. “Vision” ภาพความสำเร็จที่อยากเห็นระบุเป้าหมายระยะยาว Vistion เปรียบเสมือนผลลัพธ์ทางสังคมที่โครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของเราที่ตั้งใจให้เป็นเป้าหมายหลักเป้าหมายเดียวที่อยากสร้างให้เกิดขึ้น เป็นภาพที่เราอยากเห็นเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว
ตัวอย่าง
- โครงการ Sex Education มี Vision คือ “เยาวชนมีความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์”
- โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มี Vision คือ “ชุมชนมีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ”
- โครงการพลังชุมชนบ้านบ่อสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มี Vision คือ “เกิดความความสามัคคีระหว่างคนในชุมชนบ้านบ่อ”
2. “Goals” เป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จระบุเป้าหมายระยะสั้นที่ต้องทำให้สำเร็จ เป็นส่วนประกอบเพื่อส่งผลให้เป้าหมายระยะยาว (Vision) เกิดขึ้น เป้าหมายสามารถมีได้หลายข้อ โดยเขียนเป็นเป้าหมายแบบ S.M.A.R.T. goal เพื่อที่จะได้เห็นภาพชัดมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย
- Specific เฉพาะเจาะจง
- Measurable วัดผลได้
- Attainable ไม่เกินกำลังที่จะทำได้จริง
- Relevant มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโดยตรง
- Timely ระบุระยะเวลาชัดเจน
ตัวอย่าง
- โครงการ Sex Education มี Goals คือ1. ในระยะเวลา 6 เดือน คะแนนจากแบบทดสอบความรู้เรื่องเพศศึกษาของเด็กมัธยมตอนต้น-ปลายเพิ่มขึ้น2. ในระยะเวลา 6 เดือน สถิติการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดชลบุรีมีจำนวนลดลงจากเดิม
- โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มี Goals คือ1. ในระยะเวลา 6 เดือน บ้านในหมู่บ้านจำนวน 50 หลัง มีการแยะขยะอย่างถูกต้องก่อนส่งให้รถเก็บขยะ2. ในระยะเวลา 6 เดือน เจ้าหน้าที่เก็บขยะในหมู่บ้านใช้เวลาในการแยกขยะลดลงจากเดิม เมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ในปัจจุบัน
- โครงการพลังชุมชนบ้านบ่อสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มี Goals คือ1. ในระยะเวลา 4 เดือน มีสมาชิกชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ด้วยความสมัครใจจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกหมู่บ้าน2. ในระยะเวลา 6 เดือน มีผู้เข้าร่วมมีสมาชิกชุมชนเข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกชุมชนจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกหมู่บ้าน
Step 3 Activities
ระบุกิจกรรมที่ต้องทำเพื่อสร้างให้เกิดเป้าหมายระยะสั้นที่เราต้องการ (Goals) กิจกรรมข้อนี้เสมือนเป็นส่วนประกอบของการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นระหว่างภาพสถานการณ์ปัญหาปัจจุบันกับภาพความสำเร็จที่เราอยากเห็น ดังนั้นการตั้งกิจกรรมควรสอดคล้องกันกับเป้าหมาย เมื่อเขียนแล้วลองอ่านทวนซ้ำและเช็คว่ากิจกรรมนี้ส่งผลต่อเป้าหมายจริงหรือไม่
ตัวอย่าง
- โครงการ Sex Education มีกิจกรรม คือ1. เปิดเพจรับปรึกษาปัญหาเรื่องเพศ และทำเครือข่ายเพจที่เยาวชนมักจะเข้าไปส่งคำถามเรื่องเพศสัมพันธ์2. เผยแพร่ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบของการ์ตูนออนไลน์ สามารถเข้าอ่านได้ฟรี3. ติดต่อกับผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูประจำวิชาสุขศึกษาเพื่อเผยแพร่ช่องทางข้อมูลความรู้ที่ได้จัดทำไปให้ถึงเด็กกลุ่มเป้าหมาย4. จัดทำแบบทดสอบความรู้พื้นฐานเรื่องการมีเพศสัมพันธ์
- โครงการแยกขยะต้นทางจากบ้านสู่ทะเล มีกิจกรรม คือ1. จัดสถานที่ตั้งถังขยะแบบแยกประเภทพร้อมคู่มือวิธีการใช้งานอย่างง่าย2. ทำเวิร์กชอปสอนเรื่องการแยกขยะให้กับตัวแทนลูกบ้านในหมู่บ้าน
- โครงการพลังชุมชนบ้านบ่อสู่พลังการเปลี่ยนแปลง มีกิจกรรม คือ1. จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ให้สมาชิกในชุมชน2. จัดการประชุมวางแผนและออกแบบกิจกรรมที่ชุมชนอยากทำและเห็นประโยชน์ร่วมกัน3. จัดกิจกรรมลงคะแนนเลือกกิจกรรม โดยสมาชิกในชุมชนต้องได้โหวตร่วมกัน4. จัดกิจกรรมชวนสมาชิกในชุมชนทำกิจกรรมที่ลงความเห็นร่วมกัน
จากนั้น เราสามารถเขียนทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจง่าย ดังนี้
ถ้า………………………….แล้ว……………………….
เช่น ถ้า นักเรียนชั้นมัธยมต้น-ปลาย อายุระหว่าง 11-19 ปี จำนวน 1,800 คน ในจังหวัดชลบุรี ได้รับคำปรึกษา ความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ผ่านเพจรับปรึกษาปัญหาเรื่องเพศที่เข้าถึงวัยรุ่น แล้ว เด็กเหล่านี้จะมีความรู้เรื่องเพศศึกษาเพิ่มขึ้น และ สถิติการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในจังหวัดชลบุรีมีจำนวนลดลงจากเดิมในระยะเวลา 6 เดือนถ้า ลูกบ้านในหมู่บ้านทั้งหมด 150 หลังคาเรือน ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านดีพร้อม เขตลาดพร้าว กทม ผ่านเวิร์กชอปสอนเรื่องการแยกขยะให้กับตัวแทนลูกบ้านในหมู่บ้านและมีสถานที่ทิ้งขยะแยกประเภทพร้อมคู่มือวิธีการใช้งานอย่างง่าย แล้ว มีการแยะขยะอย่างถูกต้องก่อนส่งให้รถเก็บขยะ และเจ้าหน้าที่เก็บขยะในหมู่บ้านใช้เวลาในการแยกขยะลดลงจากเดิม เมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ในปัจจุบัน
หวังว่าเมื่อทำ Theory of Change ไปแล้ว ทีมจะได้เครื่องมือในการช่วยนำทาง ช่วยในการสื่อสาร ป้องกันไม่ให้หลงทาง และช่วยในการวัดผล ทั้งหมดในกระดาษเพียง 1 แผ่น!