เป้าหมายของกลุ่มใบไม้ คือ สร้างคอมมูนิตี้ของผู้คน โดยติดตั้งเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา
จุดเริ่มต้นของกลุ่มใบไม้
เก่ง โชคนิธิ คงชุ่ม เริ่มต้นทำโครงการอิสระเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติตั้งแต่สมัยเรียน ในช่วงนั้นได้ทดลองเข้าร่วมทุกกิจกรรมที่มี จนในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ก็ตกตะกอนว่าสิ่งที่ชอบและสนใจที่สุดคือการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเมื่อเก่งมีความสนใจที่ชัดเจนจึงดึงดูดเพื่อนฝูงที่มีความสนใจด้านเดียวกัน ทั้งจากในสาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ที่เขาเรียนอยู่ และเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยที่ชวนกันปากต่อปากหรือจากเว็บบอร์ดของวัยรุ่นยุค 90 อย่าง www.dek-d.com มาเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมช่วยชุมชนแก้ไขปัญหาคนกับป่าและคนกับสัตว์
เก่งและอาสาสมัครดำเนินงานในนามกลุ่มใบไม้มาถึง 14 ปี โดยระยะเวลา 10 ปีแรก กลุ่มใบไม้จัดกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นภาคีและพื้นที่ที่มีปัญหา หากแต่เป้าหมายสำคัญที่เก่งและทีมอยากเห็นคือ “พื้นที่และคอมมูนิตี้ที่ผู้คนได้มาเรียนรู้และติดตั้งเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และมาทำกิจกรรมร่วมกัน” Baimai Activity Space จึงเกิดขึ้นในปี 2561 มีทั้งคาเฟ่ สถานที่จัดกิจกรรม อาคารประชุม และลานกางเต็นท์ เพื่อตอบสนองความต้องการในการจัดกิจกรรมและจัดค่ายเรียนรู้เรื่องธรรมชาติที่มีมากขึ้น และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะอุดมการณ์ที่เข้มแข็งและมั่นคงของเก่งและอาสาสมัคร ว่าจะทำให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ป่า และสัตว์ป่า กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน โดยกิจกรรมของกลุ่มใบไม้จะต้องการอนุรักษ์และเรียนรู้ธรรมชาติแบบเท่ ๆ ที่ใคร ๆ ก็ “ติดตั้ง” ได้
กระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
จากเป้าหมายและประสบการณ์ที่สั่งสมมา กลุ่มใบไม้ได้ออกแบบกิจกรรม แบ่งตามขั้นตอนของการเรียนรู้ดังนี้
- เรียนรู้ธรรมชาติ
- อาสาแก้ไขปัญหา
เก่งเชื่อว่า หากผู้คนไม่มีความรู้และทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พวกเขาจะไม่สามารถดูแลปกป้องมันได้หรือหากดูแลได้ก็อาจไม่ยั่งยืน กิจกรรมการเรียนรู้ธรรมชาติจึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ได้รู้จักและเข้าใจองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อม ทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ สัตว์ป่า ความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ รวมถึงอธิบายความสำคัญที่ธรรมชาติมีต่อมนุษย์เพื่อให้เขารักและอยากปกป้องธรรมชาติ โดยใช้พื้นที่ที่มีประเด็นน่าสนใจ (area-based) มาเป็นแหล่งเรียนรู้ เช่น เขาใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องสัตว์กับการท่องเที่ยว พื้นที่ธรรมชาติของชุมชน เป็นต้น
กลุ่มใบไม้มีกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติมากมาย ตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมคือ การดูนก (Bird Watching) ที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้คนที่หลากหลาย และเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ เนื่องจากนกเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือป่า เราก็สามารถมองเห็นนกได้ นกจึงเป็นเหมือนทูตสันติไมตรีที่ช่วยเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับธรรมชาติ
กิจกรรมดูนก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 3 เส้นทาง แต่ละกลุ่มมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล แนะนำ ให้ความรู้ เริ่มต้นจากพาเดินเข้าป่าเพื่อส่องหานกนานาชนิดในป่าบริเวณนั้นๆด้วยกล่องส่องทางไกล และเทียบนกที่เจอกับข้อมูลในหนังสือ “นกเมืองไทย” ที่ได้รับก่อนออกเดินทาง จากนั้นบันทึกว่าเจอนกชนิดใดบ้าง ลักษณะและพฤติกรรมที่เห็นเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ตัวนี้ชอบอยู่กับดินเพราะกินไส้เดือนเป็นอาหาร ตัวนี้เป็นนักล่า ตัวนี้ก้าวร้าว ชอบตีตัวอื่น หรือนกบางตัวมากินดอกหญ้ายามเช้า เป็นต้น คนที่ดูนกจึงไม่ได้เห็นแค่นก แต่เห็นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมรอบตัวนก และยังสามารถเห็นไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เช่น นกบางตัวมาหน้าหนาว แต่ปีนี้ไม่มา แปลว่าโลกกำลังร้อนขึ้นหรือเปล่า และเขาเองมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
หลังจากนั้นทั้ง 3 กลุ่มกลับมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันให้เพื่อนต่างกลุ่มฟังว่าใครได้เจอนกชนิดใดบ้าง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วจึงสรุปกิจกรรมว่านกและธรรมชาติมีความสัมพันธ์และความสำคัญต่อกันและกันอย่างไร สุดท้ายคือมนุษย์อยู่ตรงไหน มีความสัมพันธ์อย่างไรกับธรรมชาติ และจะช่วยกันดูแล “เพื่อน” ของเราได้อย่างไรบ้าง
กลุ่มใบไม้มักพบปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ได้รับแจ้งปัญหาจากเครือข่ายที่ทำงานอนุรักษ์ด้วยกัน และพบด้วยตัวเอง เช่น นักท่องเที่ยวขับรถเร็วจนชนสัตว์ป่าได้รับบาดเจ็บ ขยะไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมจนส่งผลต่อป่า หรือบ้านพักเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสื่อมโทรม เป็นต้น กลุ่มใบไม้จะออกแบบเค้าโครงกิจกรรมคร่าวๆก่อน จากนั้นชวนอาสาสมัครเชิงคุณภาพ หรือ กลุ่มนักศึกษาและคนวัยทำงานที่เรียนรู้กับกลุ่มใบไม้หลายครั้งจนเกิดความรักและอยากปกป้องธรรมชาติด้วยทักษะ ความรู้ ความสามารถที่ตัวเองมี มาร่วมออกแบบรายละเอียดกิจกรรม ก่อนจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครทั่วไปมาเป็นแรงงานแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่ทีมได้วางไว้ให้
หลังจากร่วมแก้ไขปัญหาแล้ว อาสาสมัครหลายคนจากทั้งสองกลุ่มยังคงช่วยกลุ่มใบไม้ทำงานอย่างต่อเนื่อง บางคนกลายเป็นทีมหลักของกลุ่มใบไม้ บ้างไปทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่ของตนเอง ทุกคนล้วน “ใช้ชีวิตทุกนาทีเพื่ออนุรักษ์ตามทักษะและความสามารถที่มี”
ในการวัดผลความสำเร็จ สำหรับกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติ คือการมีเด็กและเยาวชนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้กับกลุ่มใบไม้ไปแล้ว ยกมืออาสามาช่วยงานกลุ่มใบไม้ หรือ ไปรวมตัวคิดโปรเจกต์อนุรักษ์ธรรมชาติด้วยตัวเอง ส่วนงานอาสาสมัคร กลุ่มใบไม้เป็นเหมือนปุ๋ยและน้ำให้กับเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะเติบโต แต่ละคนที่เข้ามาทำงานอาสามีความรู้ ความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการช่วยปกป้องธรรมชาติ ดังนั้นความสำเร็จจึงเป็นการที่เยาวชนหรือผู้ใหญ่สามารถทำงานอนุรักษ์ได้ด้วยตัวเองแม้ไม่มีกลุ่มใบไม้คอยช่วยแล้ว ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ เก่งยอมรับว่าต้องใช้เวลา เขาเข้าร่วมกิจกรรมจบวัน ไม่ได้แปลว่าเขาจะทำอะไรด้วยตัวเองได้ทันที
“ณ วันนี้ที่เราคุยกัน อาจมีใครกำลังเติบโตอยู่ใต้ดิน รอแดด รอฝน เพื่องอกเงยในสักวัน เราแค่รอ และทำงานของเราต่อไป”
บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้
ในขั้นตอนของการสร้างพื้นที่เรียนรู้ ตั้งแต่เสาะหาความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การหาทุนจัดกิจกรรม การออกแบบและจัดกิจกรรม การวัดผลกิจกรรม รวมถึงพัฒนาศักยภาพของกลุ่มคนทำงาน ล้วนมีรายละเอียดและวิธีการจัดการที่แตกต่างกันไปตามความถนัดของแต่ละกลุ่ม กว่าจะมาเป็นพื้นที่เรียนรู้ กลุ่มใบไม้ก็มีวิธีการจัดการในแบบของตัวเอง ดังนี้
- ความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
- แหล่งที่มาของรายได้
- การจัดกิจกรรมให้ตรงความสนใจและรูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมาย
- การวัดผลกิจกรรม
- พัฒนาศักยภาพ Play Workers
กลุ่มใบไม้ดำเนินการด้วยระบบอาสาสมัครตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในการเชื่อมร้อยให้เกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ อาสาสมัครเชิญชวนกันปากต่อปาก เช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าที่ต้องการให้กลุ่มใบไม้ไปจัดกิจกรรม ก็รู้จักต่อกันมาเป็นทอดๆ เนื่องจากประสบการณ์ที่ทำงานตั้งแต่เรียน ทำให้รู้จักคนหลายกลุ่ม และเมื่อทุกคนรับรู้ว่ากลุ่มใบไม้จริงจังในการทำงาน เป็นความเชื่อมั่นที่ส่งต่อกัน ในการทำกิจกรรมแบบใช้พื้นที่เป็นหลัก อาสาสมัครเองก็เป็นคนแนะนำพื้นที่ ชาวบ้านและหน่วยงานราชการก็รู้จักจากการทำงานร่วมกันมานาน ใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อใจที่ทำงานร่วมกัน
ในการหาทุนครั้งหนึ่งหนึ่ง เก่งจะคำนวณก่อนว่า เรามีค่าใช้จ่ายจำนวนเท่าไหร่ แล้วจึงคิดว่าจะหาเงินจำนวนเท่าไหร่เพื่อที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายนั้น
รายได้หลักของกลุ่มใบไม้มาจากการจัดค่ายและจัดกิจกรรมให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน เป็นต้น สำหรับแหล่งทุน กลุ่มใบไม้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะเด็กและเยาวชน ตอบโจทย์กลุ่มที่ขาดแคลนทรัพยากร นอกจากนี้เป็นการหารายได้จากทางอื่นเพื่อมาสมทบทำกิจกรรมของกลุ่มใบไม้ เช่น ขายเสื้อ จัดงาน Funding หรือขายภาพถ่ายโดยเก่ง เป็นต้น
รายได้ทั้งหมดถูกแบ่งสรรปันส่วน ออกเป็น ค่าดำเนินการของกลุ่มใบไม้ เงินเดือนของทีมงานประจำ (ยังคงอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เนื่องจากช่วงโควิดไม่มีระบบเงินเดือน) ค่าดำเนินการพื้นที่เรียนรู้ Baimai Activity Space และค่าตอบแทนอาสาสมัครที่ใช้ทักษะเฉพาะในการช่วยเหลือจัดกิจกรรมหรือดำเนินการ
เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาทำกิจกรรมกับกลุ่มใบไม้ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กลุ่มใบไม้จึงต้องปรับสื่อและกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัย เช่น สำหรับเด็กเล็ก จะเน้นที่ความรู้สึกและเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ใช้ร่างกาย เช่นวาดรูป ดูการ์ตูน ส่วนผู้ใหญ่ดูสารคดี และชวนตั้งวงตั้งคำถามหรือแชร์มุมมองของแต่ละคน
กลุ่มใบไม้ใช้วิธีประชุมกับทีมงานจิตอาสาที่เก็บข้อมูลจากการสังเกตผู้เข้าร่วม ว่าเขามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ถ่ายทอดไปตามจุดประสงค์หรือไม่และรู้สึกอย่างไรในทุกกิจกรรม หลังจากประชุมแบ่งปันข้อมูลที่แต่ละคนสังเกตมาได้แล้ว จะนำเสียงสะท้อนเหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนพัฒนากิจกรรมให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันกลุ่มใบไม้ได้ถอดข้อมูลการประเมินผู้เข้าร่วมออกมาเป็น “ลำดับขั้นวิวัฒนาการมนุษย์ใบไม้” เพื่อออกแบบกิจกรรมให้ตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแต่ละลำดับขั้นและได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่วางแผนไว้ เช่น ลำดับ 1 เป็นคนที่ตะหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แชร์ข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อม เก็บข้อมูลไว้อ่าน ศึกษาการแยกขยะ แต่ยังไม่เริ่มต้นทำอะไร กิจกรรมที่เหมาะกับกลุ่มนี้คือ การพาไปลองทำกิจกรรมที่หลากหลายจนกระทั่งเจอกิจกรรมที่ชอบ เพื่อให้เขาเข้าใจตัวเอง รู้ว่าชอบ/ไม่ชอบอะไร ถนัด/ไม่ถนัดอะไร และนำไปสู่การลงมือเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง เป็นต้น
ทั้งนี้ วิธีการในการวัดผลที่เห็นชัดเป็นรูปธรรมเป็นสิ่งที่เก่งมองว่ายังต้องพัฒนาต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบอกเล่าสิ่งที่ใบไม้ทำต่อสาธารณะหรือแหล่งทุน
ปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินการ โดยเฉพาะกลุ่มใบไม้ที่ใช้ระบบอาสาสมัครทั้งหมดคือ ทรัพยากรมนุษย์ การจะสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นย่อมเกิดจากการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์ซึ่งทำหน้าที่พัฒนาผู้เข้าร่วมอีกทอดหนึ่ง หรือ Play Workers ให้มีทักษะที่หลากหลายและเข้มแข็ง เก่งประเมินทักษะและศักยภาพของทีมงานประจำ ว่าแต่ละคนมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร ก่อนจะส่งให้แต่ละคนรวมถึงตัวเขาเองไปเรียนรู้เพิ่มเติมทักษะที่ยังขาดไป เพื่อนำกลับมาพัฒนากลุ่มใบไม้อย่างต่อเนื่อง
หลุมพรางที่อยากบอก
หากย้อนเวลากลับไปได้ เก่ง ทีมใบไม้ในวันนี้อยากเตือนตัวเองเมื่อ 14 ปีก่อน ว่า ให้รอบคอบในการบริหาร ในสภาวะวิกฤตเรามีทุนแบบ “พออยู่รอด” แต่ไม่มีเงินสำรอง จนกระทั่งเกิดโควิด-19 ไม่มีอะไรให้ไปต่อ สมาชิกตกลงกันว่าจะแยกย้ายกันไปเพื่อให้แข็งแกร่งอีกครั้งก่อนจะกลับมารวมตัวกัน ถ้าเราวางแผนดีตั้งแต่ต้น เราน่าจะยืดหยุ่นได้มากกว่านี้ และมีความมั่นคง ตามความตั้งใจที่อยากจะให้ภาพของคนที่ทำเพื่อสังคม เป็นคนสมาร์ท ฉลาด และไม่ใช่เรื่องน่าสงสาร
สิ่งที่อยากจะบอกกับคนที่สนใจอยากมาสร้างพื้นที่เรียนรู้คือ “ทบทวนกับตัวเองให้มาก ว่าเราหลงใหลในสิ่งใด ถ้าเราจริงใจและซื่อสัตย์กับตัวเอง เราจะทำมันได้อย่างสิ้นสงสัย ทรัพยากรทั้งหลายจะวิ่งเข้าหาเรา มันจะมีทางไป ถ้าเรารู้จักตัวเองดีพอ”