🎸

คลองเตยดีจัง พื้นที่พัฒนาทักษะสู่อนาคตที่สดใส

← Back to home

คลองเตยดีจัง พื้นที่ปลอดภัยสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตยให้มีทักษะชีวิตและดูแลตัวเองได้ในสังคม

image

จุดเริ่มต้นของคลองเตยดีจัง

แอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์ เริ่มทำงานจิตอาสาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนทำงานประจำเป็นพยาบาลก็ยังไปค่ายอาสาตามพื้นที่ต่าง ๆ  และหนึ่งในพื้นที่อาสาคือ ชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยจัดกิจกรรมอาสาสอนดนตรีทุกวันเสาร์ให้เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง  ช่วงแรกแอ๋มยังไม่ได้คิดว่าจะทำงานนี้ในระยะยาว แต่เมื่อมาทำงานแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของเด็ก และเริ่มผูกพันกับเด็ก ๆ  จึงเป็นสาเหตุให้แอ๋มทำงาน คลองเตยดีจัง แบบเต็มตัวและต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้เป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว

คลองเตยดีจัง ได้ถูกพัฒนาจากระบบอาสาสมัคร เป็นการเริ่มขอทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดกิจกรรมและเทศกาลดนตรีให้เด็กและเยาวชน เมื่อพื้นที่เริ่มมีชื่อเสียง องค์กรและหน่วยงานจำนวนมากสนใจสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้คลองเตยดีจังสามารถดูแลเจ้าหน้าที่ประจำและนอกเวลาได้ ประกอบกับอาสาสมัครที่มาเข้าร่วมกิจกรรมมีความสม่ำเสมอ และภาคีเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ไปพร้อม ๆ กัน จึงเป็นปัจจัยให้คลองเตยดีจังเข้มแข็งอย่างทุกวันนี้

เป้าหมายของคลองเตยดีจังในปัจจุบัน คือ พัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนที่สามารถออกวุฒิการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนเองได้ มีกิจกรรมที่หลากหลายสร้างสรรค์ มีงบประมาณเป็นของตัวเองโดยไม่ต้องขอทุน เพื่อให้คลองเตยดีจังดำเนินการได้อย่างยั่งยืน ส่วนเด็กและเยาวชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมมีทักษะอาชีพที่สามารถสร้างรายได้และมีทักษะชีวิตที่สามารถดูแลตัวเองในสังคมได้

กระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนพัฒนาทักษะชีวิตและดูแลตัวเองได้

เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในคลองเตยดีจัง ประกอบด้วยแกนนำ 20 คน และสมาชิกที่เข้าร่วมเป็นครั้งคราว รวมทั้งสิ้นกว่า 50 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็ก 6-8 ปี เด็กวัยรุ่น 14-16 ปี และเด็กโต 19-20 ปี ซึ่งกลุ่มเด็กโตเป็นกลุ่มที่มาเข้าร่วมตั้งแต่ยังเด็ก  ด้วยความหลากหลายของช่วงอายุและเด็กๆจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่กลุ่มคลองเตยดีจังออกแบบจึงจำเป็นต้องตอบพัฒนาการและเสริมทักษะของกลุ่มเป้าหมายหลากหลายช่วงวัย โดยเน้นที่ความสนุกเป็นหลัก เพื่อดึงดูดให้เด็ก ๆ อยากมาเข้าร่วม ปัจจุบันคลองเตยดีจัง มีกิจกรรม ดังนี้

1. กิจกรรมดนตรี

คลองเตยดีจังเริ่มต้นจากครูดนตรีอาสาใช้ความสนใจในดนตรีและความสามารถสอนดนตรีให้เด็กในชุมชน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสอนและสื่อสารกับเด็กให้รู้ว่าชีวิตมีอีกหลายแง่มุม หลายเส้นทางให้เลือกเดินเพื่อมีอนาคตกว้างไกล

ห้องเรียนดนตรีจะมีสอนทุกวันพฤหัสบดีและเสาร์ โดยแบ่งกลุ่มเล็ก ๆ เรียนเล่นเครื่องดนตรีสากล กลอง เบส กีต้าร์ และคีย์บอร์ด และอีกกลุ่มเรียนเล่นรวมวงเพื่อแสดงในงานเทศกาลประจำปีของคลองเตยดีจัง รวมถึงงานอื่น ๆ ที่มีผู้ติดต่อเข้ามาจ้าง ซึ่งปัจจุบัน เด็กที่เล่นดนตรีเป็นแล้วจะเข้าห้องดนตรีเพื่อซ้อมสำหรับรับงานแสดง ส่วนการสอนดนตรีให้เด็กในชุมชนถูกพัก จากสถานการณ์โควิด จนกว่าปัจจัยต่าง ๆ จะดีมากพอให้กลับมาเปิดห้องเรียนดนตรีให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ อีกครั้ง

2. ศูนย์การเรียนรู้

โปรแกรมหลักในปัจจุบันคือ Learn & Earn ในทุกวันเสาร์ โปรแกรมนี้เป็นการทดสอบกระบวนการสนับสนุนเด็ก ๆ ให้เรียนไปด้วยสร้างรายได้ไปด้วยของ School of Changemakers ที่เด็ก ๆ จะได้ เรียนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ รวมถึงวิชาทักษะผู้ประกอบการ ผ่านการเรียนรู้จากผู้ประกอบการในสาขาต่าง ๆ  ได้แก่ การออกแบบศิลปะด้วย Canva การปลูกต้นไม้ และการแยกขยะ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทำงานจริง พัฒนาทักษะชีวิตและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และสร้างรายได้

ตลอดการทำงานของคลองเตยดีจังมีเด็กในพื้นที่เข้าออกพื้นที่เรียนรู้แห่งนี้ เด็ก ๆ หลายคนที่เคยถูกสังคมตีตราว่าเป็นเด็กเกเรหรือติดยา เมื่อได้มาเข้าร่วมกิจกรรมก็ได้เรียนรู้ จนมีวุฒิภาวะกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตมากขึ้น ทำงานดูแลที่บ้าน ส่งเงินให้ที่บ้าน บางคนก็ได้เติบโตไปเป็นแกนนำดูแลน้อง ๆ รุ่นถัดไป หากเด็กที่ออกไปจากคลองเตยดีจังสามารถดูแลตัวเองได้ แอ๋มก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

image

บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้

เส้นทาง 10 ปี คลองเตยดีจังเต็มไปด้วยบทเรียนสำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้น การทำงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง การประเมินวัดผลการเรียนรู้ที่จะมีประโยชน์กับพื้นที่เรียนรู้ที่อื่น การสร้างเครือข่ายคนทำงาน รวมถึงการจัดการรายได้อย่างเป็นระบบ

  1. จุดเริ่มต้นที่ชัดเจน
  2. ก่อนเริ่มต้นทำพื้นที่เรียนรู้ ถามตัวเองให้ชัดว่า “นี่เป็นสิ่งที่เราอยากทำไปตลอดชีวิตใช่หรือเปล่า” เพราะการทำงานกับเด็กใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ดังนั้นต้องตรวจสอบกับตัวเองให้แน่ใจ ถ้าใช่ก็ลงมือทำเลย  บางคนอาจจะกังวลเรื่องผลลัพธ์ ความรู้ หรือกระบวนการ บางอย่างแอ๋มเองก็รู้น้อยมาก แต่สิ่งที่แอ๋มทำคือทำไปก่อนด้วยคติที่ว่า "พวกเราน่ะมวยวัด" คิดแค่ว่าจะทำสิ่งนี้จะเกิดสิ่งนี้ แล้วลงมือทำ ยังไม่ต้องตีกรอบอะไรมากมายให้ตัวเอง ลองทำสั้น ๆ จากนั้น ค่อยทบทวนว่าเราชอบสิ่งนี้ใช่ไหม อินเรื่องนี้ใช่ไหม เพราะเมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ใช่ เราจะทำมันได้นานและอย่างยั่งยืน

  3. การยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  4. การสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน คนในชุมชนย่อมมีส่วนสำคัญและมีผลต่อการดำเนินการขององค์กร ช่วงเริ่มต้นคนในชุมชนอาจไม่เข้าใจว่าคลองเตยดีจังทำอะไร แต่ตลอด 10 กว่าปี คลองเตยดีจังทำให้เห็นว่า เด็กที่มาเข้าร่วมกิจกรรมมีการพัฒนา จากเด็กในกลุ่มเปราะบางกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวในการทำงานหาเงิน คนในชุมชนจึงเริ่มเข้าใจว่าคลองเตยดีจังทำอะไร เด็ก ๆ ไปทำอะไร แล้วการทำงานของคลองเตยดีจังส่งผลดีกับชุมชนอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอในการทำงานในการพิสูจน์   นอกจากนี้ พัฒนาการของเด็กที่เพิ่มขึ้นทำให้คนที่เข้ามาสนับสนุนเราเห็นว่าคลองเตยดีจังเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาด้วย

  5. การวัดผลกิจกรรม
  6. เพื่อที่จะได้รู้ว่าทีมสามารถแก้ปัญหาของเด็กได้ จะมีการประเมินปัญหาเบื้องต้นของเด็กแต่ละคนด้วยการนั่งคุย สัมภาษณ์ เพื่อให้เข้าใจจุดปัญหา (Pain Point) จากนั้น ระหว่างทำกิจกรรม จะมีการประเมินเป็นระยะด้วยการสังเกตพฤติกรรม หรือถามจากพี่เลี้ยงที่ดูแลสถานการณ์ของเด็ก ว่า เด็กมีความสามารถในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากยาเสพติดหรือสถานการณ์อันตรายได้หรือไม่แม้จะอยู่ในสถานที่ที่สุ่มเสี่ยง เด็กมีทักษะและศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่  เด็ก แต่ละคนมีพัฒนาการตามเกณฑ์แต่ละช่วงวัยหรือไม่ อย่างไร  และหากเด็กมีพัฒนาการมากกว่าที่เราตั้งเป้าไว้ เช่น เด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ นั่นคือ Impact ระยะยาว

    ปัจจุบัน คลองเตยดีจังและเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง กำลังพัฒนารูปแบบการประเมินเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นตัวชี้วัดกลางให้ทุกภาคีในเครือข่ายใช้ในการประเมินศักยภาพเด็กเหมือนกัน และใช้ผลลัพธ์ที่ได้มาออกแบบกิจกรรมเสริมทักษะให้เด็กมีการพัฒนาที่ดีขึ้น  ซึ่งการประเมินเด็กและเยาวชนใหม่นั้น แบ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนออกเป็น 5 ระดับ ตามความต่อเนื่องและบทบาทในการเข้าร่วม คือ 1. เยาวชนเข้าร่วมครั้งคราว 2. เยาวชนเข้ารวมต่อเนื่อง 3. เยาวชนอาสาสมัคร 4. เยาวชนแกนนํา 5. เยาวชนนักเปลี่ยนแปลง (ลุกขึ้นมาทําเพื่อคนอื่น)

  7. เครือข่ายพื้นที่เรียนรู้
  8. ในการทำงานสร้างพื้นที่เรียนรู้ ภาคีเครือข่ายเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทาง ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คลองเตยดีจังได้รับความรู้ในการดำเนินการพื้นที่เรียนรู้มาจากเครือข่าย ไปดูพื้นที่ต่าง ๆ เรียนรู้ว่าแต่ละแห่งทำอะไรและนำกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่พบเจอไปปรับใช้ให้เหมาะกับทีมงาน พื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย หรือร่วมทดสอบโมเดลกับเครือข่ายเพื่อให้ได้ไอเดียและโครงการใหม่ ๆ

  9. สื่อสารให้ชัดเพื่อให้แหล่งทุนเข้าใจ
  10. คลองเตยดีจังดำเนินการด้วยทุนสนับสนุนจากหลายองค์กร โดยส่วนใหญ่องค์กรต้องการสนับสนุนและติดต่อมาเองหลังเห็นการดำเนินงานและผลงานของเด็กๆที่เข้าร่วมกิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดียของคลองเตยดีจัง ดังนั้นแอ๋มจึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารต่อสาธารณะอย่างมาก คือ เล่าเรื่ององค์กรและกิจกรรมชัดเจน ถ่ายทอดเรื่องราวผลงานของเด็กๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งชุมชน คนทั่วไป รวมถึงแหล่งทุนต่างๆเข้าใจงานของเราและเห็นโอกาสสนับสนุนได้โดยง่าย

หลุมพรางที่อยากบอก

การบริหารจัดการพื้นที่เรียนรู้ ต้องคิดให้ครอบคลุมและชัดเจน เพราะจะเชื่อมโยงไปถึงการบริหารให้องค์กรอยู่ได้นาน ถ้าบริหารได้ดี องค์กรมีระบบ จะเป็นประโยชน์ในการส่งต่อให้คนรุ่นใหม่พัฒนาและขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น จะไม่ต้องอยู่ในมือคนคนเดียว “คลองเตยดีจังไม่ใช่เรา (แอ๋ม) คนเดียว ถ้าเราไม่อยู่แล้ว เขาก็สามารถบริหารจัดการไปได้”

นอกจากนี้ การทำระบบสื่อสารให้ชัดสำคัญมาก ภาพลักษณ์ที่อยากให้คนรับรู้ต้องชัดเจน ส่วนการวัดผลก็ต้องแน่ชัดว่าเราคาดหวังผลลัพธ์อะไร ผู้นำองค์กรจะวางบทบาทของตัวเองอย่างไร แล้วบริหารทีมและระบบงานให้สนับสนุนให้เกิดสิ่งที่เราคาดหวัง

สำหรับผู้ที่สนใจมาสร้างพื้นที่เรียนรู้ 1. ถามตัวเองให้ชัดก่อน อยากทำใช่ไหม เราทำไปเพื่ออะไร ทำไมถึงอยากทำสิ่งนี้ 2. ทบทวนว่าเรามีต้นทุนอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ในการต้องพัฒนาของเรา เช่น เครือข่าย  ความรู้ สิ่งของ สถานที่ บางอย่างเราสร้างเองไม่ได้ ต้องขอความรู้ และหากจะทำตามสิ่งที่ได้รู้มา ก็ขอให้พยายามทำในแบบของเรา เพราะนอกจากจะช่วยลดขั้นตอนในการเผชิญความล้มเหลวจากสิ่งที่เรายังไม่เคยทำแล้ว เมื่อเราทำในสิ่งที่เป็นของเรา เราก็จะทำมันดีและทำได้นาน

image

Related Content

📚
สิริเมืองพร้าว พื้นที่เรียนรู้ ดูแลชุมชน
🌏
สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ พื้นที่เรียนรู้ให้วัยรุ่นหมุนโลกด้วยตัวเอง
🌳
ให้ชุมชน วัฒนธรรมและป่าเป็นทุนของการเรียนรู้ กับบ้านไร่อุทัยยิ้ม
🥾
Feel Trip พื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง
🕊️
พาเด็กและเยาวชนไปรู้จักและรักแว้ง กับกลุ่มยังยิ้ม
🎸
คลองเตยดีจัง พื้นที่พัฒนาทักษะสู่อนาคตที่สดใส
🍃
กลุ่มใบไม้ แหล่งติดตั้งสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน
🪢
พลังโจ๋ พื้นที่เรียนรู้ของเด็กหลังห้อง
🧸
โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ พื้นที่พัฒนาทักษะผ่านการเล่น
🤍
Life Education พื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ให้งอกงามจากภายใน