🧸

โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ พื้นที่พัฒนาทักษะผ่านการเล่น

← Back to home

โรงเล่น พื้นที่เล่น-เรียน ที่เปิดให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาทักษะ ศักยภาพ และกล้าคิดฝัน ในพื้นที่ปลอดภัยที่มีผู้ใหญ่โอบอุ้มด้วยความรัก

image

จุดเริ่มต้นของโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

หากเปรียบเป็นมนุษย์คนหนึ่ง โรงเล่นก็เข้าสู่วัยหนุ่มสาวอายุ 24 ปี ที่เริ่มขึ้นมาเป็นรุ่นพี่สนับสนุนชุมชนอื่น ๆ สร้างพื้นที่เล่นให้เด็กและเยาวชน ด้วยเป้าหมายว่าอยากให้เด็กในทุกชุมชนมีโอกาสเข้าถึงการเล่น และมีคุณภาพในการเติบโตจากการช่วยกันดูแลของคนในชุมชน

ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เบิ้ม วีระพงษ์ กังวานนวกุล เห็นว่าเด็ก ๆ อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่เด็กไม่พูดคุยกับผู้สูงอายุเลย ผู้สูงอายุเองก็ไม่ค่อยพูดจา ดูเหงาและเศร้า เบิ้มเข้าไปพูดคุยและสอบถามถึงวัยเด็กของอุ้ย (ผู้สูงอายุ) ได้ความว่าเมื่อตอนเป็นเด็กอุ้ยไปเล่นที่ไร่นา ทำของเล่นเอง งูไม้ รถไม้ จากนั้นสาธิตทำให้ดู ชวนให้เด็ก ๆ มาเล่น เด็กเริ่มเข้าหาอุ้ยเพื่อถามว่าเล่นอย่างไร อุ้ยก็มีความสุขที่ตนมีคุณค่าแม้จะอายุมากแล้ว ของเล่นพื้นบ้านกลายเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างวัย เบิ้มและทีมจึงชวนผู้สูงอายุทำของเล่นแล้วนำไปขาย ระดมทุน กลับมาทำกิจกรรม

หลังจากนั้นในปี 2541 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลป่าแดดช่วยสร้างอาคารหลังเล็ก ๆ ให้เป็นพื้นที่เล่น โดยใช้พื้นที่สาธารณะหลังวัดป่าแดด ใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์เล่นได้ หมายถึงพิพิธภัณฑ์ที่เล่นได้จริง ๆ  ในเวลานั้นทีมโรงเล่นเริ่มเดินทางไปทำกิจกรรมโรงเล่นสัญจร มีโรงเรียนเข้ามาติดต่อให้จัดกิจกรรม มี Workshop และขายของตามเทศกาลงานต่าง ๆ  และนำรายได้จากการขายของเล่นมอบให้ผู้สูงอายุที่เป็นฝ่ายผลิต ส่วนหนึ่งนำมาเป็นกองทุนทำงานชุมชน และบริหารพื้นที่เล่น หลังจากนั้น อาคารไม้หลังเล็กเริ่มมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับการขยายกิจกรรม จึงมาขอใช้พื้นที่บ้าน 48 หมู่ 3 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ปุ๊ วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ซึ่งมีบทบาทในด้านบริหารแทนเบิ้มก่อนหน้านั้น มองว่าพิพิธภัณฑ์เล่นได้ควร rebrand และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ผ่านการเล่นจริง ๆ  มีกิจกรรมมากขึ้นและช่วยสนับสนุนให้เด็กที่อยากทำอะไรต่าง ๆ ได้มีพื้นที่ลองทำ เพราะชุมชนยังขาดพื้นที่ให้เด็กได้ลงมือ ทดลองทำ สิ่งที่อยากทำ จึงเริ่มจากค่อย ๆ สร้างห้องนิทรรศการเล่นได้ จากนั้นต่อเติมลานกลางแจ้ง ร้านขายของ และห้อง workshop ต่อไป จนกลายเป็น โรงเล่นเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เล่นได้ อย่างปัจจุบัน

image

กระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาทักษะผ่านการเล่น

โรงเล่น นำโดยปุ๊ (ผู้อำนวยการ) จิ๋ว วีรวรรณ กังวานนวกุล (ผู้จัดการ) เหมียว อุไรรัตน์ หน้าใหญ่ และแปลน รามิล กังวานนวกุล ทำงานทั้งกับเด็กโดยตรงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน กระบวนการและกิจกรรมจึงแตกต่างออกไปตามผู้เข้าร่วม หากมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะตามวัยผ่านการเล่น โดยมีผู้ปกครอง คุณครู และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องช่วย ‘อำนวยการเล่น’ ด้วยความเข้าใจ กิจกรรมทั้งหมดของโรงเล่น มีดังนี้

  1. กิจกรรมที่โรงเล่นจัดเป็นประจำ
    • โรงเล่นเรียนรู้ เปิดให้เด็ก ๆ เข้ามาเล่นและเรียนรู้ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์
    • กิจกรรมสำหรับโรงเรียนที่พาเด็ก ๆ เข้ามาทัศนศึกษาผ่านการเล่น
    • กิจกรรมสำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่เข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่โรงเล่น
    • คอร์สกิจกรรมเล่น เปิดรับสมัครคนทั่วไป เช่น กิจกรรมเดินป่า กิจกรรมครอบครัว เปิดรับ 1-2 ครั้งต่อปี
    • ร้านขายของเล่น ของที่ระลึก ณ โรงเล่นเรียนรู้ และช่องทางออนไลน์ Facebook Lazada และ Shopee
    • โรงเล่นสัญจร สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานติดต่อให้ไปจัดกระบวนการเล่น 1-2 วัน ประมาณ 3-5 ครั้งต่อไป เช่น ThaiPBS เป็นต้น
    • คอร์สแนวคิดเรื่องการทำพื้นที่เล่น พัฒนาการบนฐานความผูกพันธ์และการเล่น จัดอบรมให้ผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยในชุมชน หรือกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ตามที่กลไกท้องถิ่นติดต่อ 3-5 ครั้งต่อปี
    • โครงการบ่มเพาะพื้นที่เล่น 5 พื้นที่ ให้ 5 ชุมชนสร้างพื้นที่เล่นสำหรับเด็กและเยาวชน
  2. โปรเจกต์ก่อการเล่น รับงบประมาณจากเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก แผนพื้นที่ความสุขของเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 4 ตั้งแต่ปี 2563
    • ขับเคลื่อนเรื่องระบบนิเวศการเล่นสำหรับคนทุกวัย ทำงานกับคนตั้งครรภ์ เด็กปฐมวัย โรงเรียน ผู้สูงอายุ และกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้มีส่วนร่วมในการเล่นของเด็ก
    • จัดกิจกรรม Day Camp รับกลุ่มเด็ก 3-7 ปี 8 - 10 ปี โดยไม่คิดเงิน เด็กที่อยู่ในชุมชนป่าแดด สามารถสมัครเข้าร่วมได้

ทีมโรงเล่น ออกแบบกิจกรรมสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีช่วงวัยแตกต่างกัน ดังนี้

อายุ 3 - 7 ปี เล่นอิสระในห้องของเล่นและได้ลองทำของเล่นอย่างง่าย ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมลูก เพราะของเล่นที่ดีที่สุดของเด็กคือพ่อแม่ผู้ปกครอง

อายุ 8 - 10 ปี ได้เริ่มทำของเล่นที่เป็นมือคีบ เพิ่มความยากจากน้องเล็ก แต่ไม่ยากจนเกินไปนัก

อายุ 11 - 14 ปี ทำของเล่นกลไก Automata เช่น ของเล่นไขลาน เป็นต้น

อายุ 15 - 18 ปี จะได้ร่วมออกแบบ วางแผน และลงมือทำของเล่นชิ้นใหญ่และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สำหรับเด็กโตรุ่นอายุ  15- 18 ปี โรงเล่นออกแบบให้เด็กเรียนรู้และลงมือทำเอง พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถอยู่ในพื้นที่ได้แต่ไม่เข้ากระบวนการ เพราะบางครั้งผู้ปกครองมักจะทำแทน หรือพูดแนะนำมากจนเด็กไม่มีสมาธิ ไม่กล้าทำ กลัวผิด และไม่รู้สึกว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัย

image

ตลอด 24 ปี มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เติบโตจากโรงเล่นแห่งนี้ ผ่านกระบวนการเล่นที่ได้ค้นหาตัวเอง มีผู้ใหญ่คอยอยู่ข้าง ๆ  รับฟังด้วยความเข้าใจ เด็กจะหาเจอว่าตัวเองต้องการอะไร มีความสนใจเรื่องอะไร อยากได้การสนับสนุนเรื่องอะไร และกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองฝัน

แปลน ลูกชายของปุ๊ เป็นหนึ่งคนที่เติบโตมากับกระบวนการเล่น ได้ค้นหา ค้นพบ และลงมือทำทุกสิ่งที่อยากทำ จนสามารถสร้างนวัตกรรมและพัฒนาของเล่นให้ทันสมัยเหมาะกับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในพื้นที่โรงเล่น ปัจจุบันแปลนเป็นกระบวนกร สอนเด็ก ๆ ทำของเล่นมือคีบ Automata และของเล่นอื่น ๆ ที่มีกลไกซับซ้อนมากขึ้น ในมุมมองของแปลน เด็กทุกคนที่โตมากับโรงเล่นจะไม่สร้างภาระให้กับสังคม เพราะได้ผ่านกระบวนการ มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก และทำกิจกรรม ซึ่งช่วยให้เขาได้ค้นพบความสามารถ ความสนใจ และความฝันของตัวเอง

image

บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้

ในทุกขั้นตอนของการสร้างโรงเล่นล้วนมีบทเรียนสำคัญที่เป็นประโยชน์สำหรับหลาย ๆ คนที่ต้องการสร้างพื้นที่เล่น-เรียน-รู้เช่นเดียวกัน

  1. ตั้งต้นจากความเชื่อ
  2. ทุกคนในทีมโรงเล่นเห็นความสำคัญและเชื่อเรื่องการเรียนรู้ผ่านการเล่น จิ๋วและลูกหลานเติบโตมากับการเล่น จึงเชื่อเรื่องการลงมือทำ ค้นพบตัวเอง การเล่นปลายเปิด และการเล่นเพื่อที่จะกลับมาตั้งคำถาม เมื่อพบว่าป่าแดดมีเพียงพื้นที่เล่นตามบ้าน ชายป่า ชายทุ่ง ที่เรียกได้ว่าเด็กเล่นแบบปล่อยปละละเลย จนทำให้เกิดเหตุเด็กหายไปบนภูเขา ตกบ่อน้ำ ตกท่อ จึงใช้ความเชื่อที่มีในการทำให้โรงเล่นเป็นพื้นที่ปลอดภัย เด็กได้เสริมสร้างศักยภาพของตัวเอง และมีคนที่ร่วมแสวงหาคำตอบไปด้วยกัน จนเด็กได้รู้ว่าโลกนี้มันดี ปลอดภัย และมีผู้ใหญ่อยู่ข้าง ๆ

  3. สร้างพื้นที่จากต้นทุนที่มีเพื่อความยั่งยืน
  4. เมื่อมีความเชื่อแล้ว โรงเล่นคำนึงถึงต้นทุนของตัวเอง เช่น สถานที่ งบประมาณ เวลา ทักษะ ความรู้ เป็นต้น ประกอบกับสิ่งที่อยากทำ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ว่าจากสิ่งที่มีอยู่จะสามารถสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยากมีได้อย่างไรบ้าง เช่น โรงเล่นมีช่างไม้ ช่างทำของเล่น มีพื้นที่กว้าง ก็สามารถให้เด็กมาเล่นของเล่นที่ผลิตโดยช่างไม้ชุมชนในลานเล่นได้ เป็นต้น ดังนั้นหากใครไม่มีช่างไม้ ไม่มีคนทำของเล่น ก็ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนโรงเล่น ใช้ต้นทุนที่มีมาต่อยอด จะเป็นจุดตั้งต้นที่ง่ายที่สุดและสามารถทำต่อได้ในระยะยาว

  5. ทำพื้นที่ให้สร้างสรรค์ พื้นที่เรียนรู้หรือพื้นที่เล่น ควรจะเป็นพื้นที่ที่สนุก สร้างสรรค์ และมีรสนิยม สุนทรียะเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก ที่ผ่านมาศูนย์เด็กเล็กหรือสนามเด็กเล่นมีเพียงเหล็กอลูมิเนียมตั้ง ทำให้เด็กไม่ได้ถูกต่อเติมมุมมองเชิงศิลปะ เด็กจะขาดเรื่องสุนทรียะไปและมองโลกแบบแบน ๆ หรือบางแห่งทาด้วยสีฉูดฉาด ซึ่งปิดกั้นจินตนาการของเด็กในการคิดดัดแปลงสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นอีกสิ่งที่เขาฝันถึง เพียงเพราะถูกจำกัดด้วยสี ดังนั้นลานเล่นควรใช้สีให้น้อย เลือกใช้สีธรรมชาติ แล้วที่เหลือปล่อยให้เป็นจินตนาการของเด็กบอกเองว่าสิ่งของนี้คืออะไรและมีสีอะไร
  6. นอกจากนี้ 1 พื้นที่ควรตอบได้หลายจุดประสงค์ เป็นได้หลายอย่าง เปลี่ยนแปลงไปตามการจัดวาง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก และเด็กเองก็สามารถสร้างสรรค์พื้นที่หนึ่งหนึ่งให้เป็นอะไรก็ได้ตามที่ใจเขาอยากให้เป็น ซึ่งต้องเกิดจากการวางแผนตั้งแต่เริ่มสร้าง

  7. สร้างความเข้าใจใหม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง
  8. ขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้การสร้างพื้นที่คือ การสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณะ โรงเล่นใช้ช่องทาง Facebook และ Youtube บอกเล่าเรื่องราวและกระบวนการทำของเล่น พร้อมด้วยการทำงานสื่อสารกับกลไกท้องถิ่น ทั้งอบต. โรงเรียน รพ.สต. ชุมชน ให้เพิ่มมุมมองจากความเชื่อว่าเด็กที่ดีต้องเก่งและฉลาดเท่านั้น เป็นเด็กไม่จำเป็นต้องฉลาด แต่มีความสดใสร่าเริงและมีคุณลักษณะเชิงบวก เพราะในช่วงเริ่มต้นของโปรเจกต์ก่อนการเล่น ทีมโรงเล่นได้เห็นว่าเด็กในพื้นที่จำนวนไม่น้อย มีพัฒนาการล่าช้า ภาวะการเรียนรู้ถดถอย และถูกทิ้งไว้หลังห้อง จึงต้องสื่อสารกับโรงเรียน ให้เข้าใจว่าการเล่นมีความสำคัญและมีส่วนช่วยเด็กให้มีพัฒนาการสมวัย และเติบโตไปอย่างมีคุณภาพได้ แม้ว่ารัฐและโรงเรียนจะมีงบประมาณสำหรับเรื่องเล่นน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยก็ตาม

    เรื่องเล่น ถือเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องกระแสหลักในสังคม ดังนั้นคนที่ทำงานเรื่องเล่นจะต้องมั่นคงในความเชื่อของตัวเอง เพื่อผ่านความท้าทายในรัฐที่ไม่มีโครงสร้างสนับสนุน ต้องพยายามทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กเข้าใจว่าการเรียนรู้กับการศึกษานั้นต่างกันอย่างไร เชิญชวนมาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการเล่นด้วยตัวเอง และตามไปทำงานด้วยในเชิงลึก จนกว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นจะเปลี่ยนแนวคิด มามีส่วนร่วม และสนับสนุนโรงเล่น

    สาเหตุที่โรงเล่นต้องทำงานกับผู้ใหญ่ควบคู่ไปด้วย เป็นเพราะมองเห็นปัญหาที่อยู่ใต้พรมที่ทำให้เด็กไม่ได้เล่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจหรือการศึกษาก็ตาม ไม่ใช่เพราะพ่อแม่ไม่อยากให้เด็กเล่น แต่เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยดี ของเล่นและหนังสือนิทานดี ๆ กลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะซื้อ เด็กจึงขาดโอกาสและมีความเหลื่อมล้ำ หากอยากให้เด็กเล่น คนทำงานจะต้องเข้าไปเห็นเรื่องราวและภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เพื่อที่จะเข้าใจเขาและหาวิธีช่วยให้เขาเล่นได้

    โรงเล่นเป็นตัวกลางในการชวนหน่วยงานต่าง ๆ  ในแม่สรวยมาคุยกัน โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กลไกท้องถิ่นชุมชน เรื่องการดูแลเด็ก เพราะเวลาที่ให้เด็กเล่น คนดูแลจะเห็นว่าเด็กคนนี้ต้องถูกกระตุ้นพัฒนาการ เด็กคนนี้พูดช้า บางคนต้องการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมแต่โรงเรียนทำไม่ได้แล้ว หรือ เด็กคนนี้ฝันอยากเป็นคนผลิตจรวด ทำไมทำไม่ได้ จิ๋วต้องคอยคุยกับผู้ปกครองว่า อย่าให้พื้นที่ความยากจนหรือการที่เป็นคนในพื้นที่ห่างไกล มาจำกัดความฝันของลูกหลานของเรา เขามีสิทธิเท่ากับทุกคนที่จะไปตรงไหนก็ได้ และการเล่นจะช่วยอำนวยการ เมื่อผู้ใหญ่เริ่มเข้าใจและช่วยกันสังเกตเห็นพัฒนาการและความต้องการของเด็ก ก็จะเห็นแนวทางว่าควรจัดการอย่างไรต่อ เช่น หากเด็กมีพัฒนาการล่าช้า ส่งเรื่องไปที่รพ.สต. เพื่อเข้าไปเยี่ยมบ้าน ลองกระตุ้นพัฒนาการเองก่อน หากทำไม่ได้ ให้ส่งต่อไปรพ.แม่สรวย หากดูแลไม่ได้ ส่งไปรพ.เชียงราย ถ้าสุดมือทำไม่ได้ ส่งต่อไป สถาบันราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

    ทุกคนต้องเห็นว่าเรามีกระบวนการในการดูแลเด็กอยู่ นอกจากเราทำเรื่องเล่น ต้องทำให้เห็นว่าเด็ก ๆ เกิดน้อย จะทำให้ด้อยคุณภาพไม่ได้ และผู้ใหญ่เป็นส่วนสำคัญมากในการทำให้เด็กมีคุณภาพในการเติบโตและกลายเป็นพลเมือง

  9. วิธีการวัดผล
  10. การวัดผลเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมกับโรงเล่นจะถูกแบ่งเป็นเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมระยะยาวและต่อเนื่อง เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นครั้งคราว และเด็กในโปรเจกต์ก่อการเล่น

    เด็กที่เข้าร่วมระยะยาวจะมีการวัดผลก่อน-หลัง เก็บบันทึกอย่างละเอียด โดยเหมียว อุไรรัตน์ ใช้วิธีการสังเกตดู เช่น แรก ๆ เข้ามาที่โรงเล่น ไม่กล้าเข้าสังคม พอมาต่อเนื่องสักระยะเริ่มพูดคุยได้ ช่วยเก็บของ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ดูแลตัวเองได้ เป็นได้

    ส่วนเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นครั้งคราว เช่น Day Camp สำหรับเด็กเล็กจะมีให้หยอดของลงกล่อง ว่ากิจกรรมวันนี้สนุกน้อย สนุกกลาง หรือสนุกมาก

    สำหรับเด็กในโปรเจกต์ก่อการเล่น จะมีแบบฟอร์มวัดผล ก่อน กลาง หลัง ให้ผู้ปกครองกรอกประเมิน ว่าเด็กมีชั่วโมงการเล่นกี่ชั่วโมง มีพฤติกรรมเชิงบวกเพิ่มขึ้นไหม ควบคุมตัวเองผ่านการเล่นได้ดีขึ้นไหม ประกอบกับให้คุณครูไปเยี่ยมบ้าน ครูจะสังเกตเรื่องความเป็นอยู่ การอยู่ร่วมกัน และการสื่อสารกันในครอบครัว แล้วบันทึกเพื่อที่จะประเมิน ส่วนนี้ทำให้คุณครูเข้าใจเด็กในห้องเรียนของตัวเองมากขึ้นด้วย

  11. ขยายพื้นที่เล่น
  12. ทีมโรงเล่นไม่อยากให้ลานเล่นมีแค่ที่โรงเล่น อยากให้เด็กทุกชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงการเล่น จึงเป็นที่มาของการทำโครงการบ่มเพาะพื้นที่เล่น 5 พื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้ทุกชุมชนมีพื้นที่เล่นใกล้บ้าน และส่งเสริมให้คนดูแลเด็กรู้ว่าควรดูแลเด็กอย่างไร เด็กควรเติบโตพัฒนาอย่างไร ชุมชนสร้างการมีส่วนร่วมได้อย่างไรในการดูแลคนในชุมชนให้เติบโตแบบที่ทุกคนช่วยกัน โดยที่โรงเล่นจะเป็นเพียงผู้สนับสนุน ผู้ช่วย ที่มีวิธีการ ของเล่น หรือแนวคิดของการเรียนรู้ผ่านการเล่นให้แต่ไม่ลงมือทำให้ เพื่อให้ชุมชนสร้างและอยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด

หลุมพรางที่อยากบอก

หนึ่งสิ่งที่โรงเล่นตระหนักและต้องการย้ำเตือนสำหรับคนที่อยากสร้างพื้นที่เรียนรู้คือ การประเมินศักยภาพของตัวเอง มีระบบที่จะจัดการคน งาน เงิน โดยไม่เบียดเบียนตัวคนทำ และเลือกทำในสิ่งที่มาจากแก่นแท้ข้างใน เพราะการทำให้พื้นที่ปรากฏนั้นไม่ยาก แต่ความยากคือการทำให้ต่อเนื่อง หากทำสิ่งใดจากแก่นแท้ของตัวเอง แม้จะต้องยืนอยู่ลำพังหรือต้องผ่านทางที่ยากลำบาก ก็จะหาทางไปต่อได้

สิ่งสำคัญคืออย่าคิดมากกับการเริ่มต้นมากจนเกินไป ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเล่นหรือลานเล่นที่ใหญ่โต สำหรับเด็ก แค่บ่อทราย ลานดิน และผู้ใหญ่ที่เข้าใจ ก็สามารถเป็นพื้นที่เล่นได้แล้ว หากมัวแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิด ก็จะไม่เกิด ไม่จำเป็นต้องเล่นของเล่นอย่างเดียว หากคุณเป็นเชฟ ศิลปิน ช่างไม้ คุณก็ทำพื้นที่เรียนรู้ได้ ใคร ๆ ก็ทำได้ ขอเพียงลงมือทำด้วยจิตใจที่เปิดรับ โอบอุ้ม และสร้างสรรค์อย่างมนุษย์ที่โตมาก่อนจะดูแลมนุษย์ที่เกิดตามมา เพราะโรงเล่นเชื่อว่าเด็กคนนึงเติบโตมาต้องช่วยกันดูแลทุกภาคส่วน เป็นเรื่องสำคัญและเป็นวาระที่เราต้องมาร่วมมือและทำให้เด็กรู้ว่าโลกนี้มันดีและปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาผู้ใหญ่ใช้ชีวิตแบบที่ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวกันมามากแล้ว ถ้าพื้นที่เรียนรู้เป็นสิ่งที่อยากทำ ก็ลงมือทำเลย

image

Related Content

📚
สิริเมืองพร้าว พื้นที่เรียนรู้ ดูแลชุมชน
🌏
สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ พื้นที่เรียนรู้ให้วัยรุ่นหมุนโลกด้วยตัวเอง
🌳
ให้ชุมชน วัฒนธรรมและป่าเป็นทุนของการเรียนรู้ กับบ้านไร่อุทัยยิ้ม
🥾
Feel Trip พื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง
🕊️
พาเด็กและเยาวชนไปรู้จักและรักแว้ง กับกลุ่มยังยิ้ม
🎸
คลองเตยดีจัง พื้นที่พัฒนาทักษะสู่อนาคตที่สดใส
🍃
กลุ่มใบไม้ แหล่งติดตั้งสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน
🪢
พลังโจ๋ พื้นที่เรียนรู้ของเด็กหลังห้อง
🧸
โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ พื้นที่พัฒนาทักษะผ่านการเล่น
🤍
Life Education พื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ให้งอกงามจากภายใน