🕊️

พาเด็กและเยาวชนไปรู้จักและรักแว้ง กับกลุ่มยังยิ้ม

← Back to home

ยังยิ้ม ใช้ชุมชนและป่าไม้เป็นห้องเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กและเยาวชน

image

จุดเริ่มต้นของกลุ่มยังยิ้ม

7 มกราคม 2566 ครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งกลุ่มยังยิ้ม ย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อน ซัม นูรฮีซาม บินมามุ เดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนบ้านเกิด อ.แว้ง จ.นราธิวาส และค้นพบของขวัญวันเกิดที่เขาตามหา นั่นคือ ป่าฮาลา-บาลา ที่สวยและอุดมสมบูรณ์มากเสียจนอยากให้คนอื่นได้มาเห็นด้วย ซัมจึงอยากตอบแทนโรงเรียนและชุมชนของเขาด้วยการทำให้ป่าแห่งนี้กลายเป็นหมุดหมายของการเรียนรู้ธรรมชาติ ไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของ อ.แว้ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเขียนโครงการขอทุนจากพื้นที่นี้ดีจังและริเริ่ม ‘กลุ่มยังยิ้ม’

ชื่อ กลุ่มยังยิ้ม สามารถตีความได้ 2 อย่าง คือ ‘Young ยิ้ม’ หมายถึง หนุ่มสาวที่มีความสุข หรือ ‘ยังยิ้มอยู่’ หมายถึง คนในชุมชนยังยิ้มได้แม้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซัมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มาเรียนรู้ธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ชุมชน ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รู้จักและรักชุมชนของตัวเอง ซึ่ง ณ ตอนนั้น เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับจังหวัดนราธิวาสเพราะไม่เคยมีใครทำงานด้านนี้ คนในชุมชนก็ตั้งคำถามว่าหนุ่มสาว 20 - 30 คนมาตั้งกลุ่มทำอะไร มีความคิดเห็นเชิงลบเข้ามามากมายด้วยความไม่เข้าใจ เพราะโดยธรรมชาติของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ขัดแย้ง ทำให้ซัมรู้ว่าตัวเองต้องลงมือทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชุมชนเข้าใจว่ากลุ่มยังยิ้มคือใคร ทำอะไร

เป้าหมายของยังยิ้มในปีที่ 1 - 5 คือ ทำให้คนใน อ.แว้งรู้จักและให้ความสำคัญป่าฮาลา-บาลา นกเงือกธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ชุมชนอันดีงามของ อ.แว้ง เพื่อที่เด็กและเยาวชนจะได้มีความรู้ ความเข้าใจใน ‘บ้าน’ ของตัวเอง และช่วยกันพัฒนาชุมชนต่อไปได้

เป้าหมายในปี 6 - 10 คือ ทำให้กลุ่มยังยิ้มเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของลูกหลานชาวแว้ง ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสบายใจจะให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติและทักษะต่างๆได้อย่างเต็มที่ โดยมีพ่อแม่ค่อยสนับสนุนอยู่

ซึ่งเป้าหมายตลอด 10 ปีที่ผ่านมาถูกทำให้ลุล่วงเรียบร้อยแล้ว ผ่านกิจกรรม เหลือเพียงเป้าหมายต่อไปของซัมและกลุ่มยังยิ้ม คือ การพัฒนาทีมงานเพื่อให้เท่าทันโลกและพัฒนาการของเด็กที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีโมเดลธุรกิจเพื่อให้องค์กรดำเนินการอย่างยั่งยืนได้ และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น

กระบวนการสร้างการเรียนรู้

image

โจทย์ในการออกแบบกิจกรรมในแต่ละปีของกลุ่มยังยิ้มจะมาจากผู้ให้ทุนหลัก คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซัมและทีมงานจะออกแบบว่าตลอดทั้งปีจะมีกี่กิจกรรม อะไรบ้าง กี่กิจกรรม เพื่อตอบโจทย์ เช่น 1 ปี จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาทีมงาน กิจกรรมวันรักนกเงือก (เดือนกุมภาพันธ์) กิจกรรมย้อนรอยประวัติศาสตร์ชุมชน กิจกรรมสัญจรโรงเรียนสอนเรื่องธรรมชาติและวัฒนธรรม (3-4 เดือน) และกิจกรรมสุดท้าย จัดเทศกาลรวมเนื้อหากิจกรรมที่จัดมาตลอดทั้งปี เพื่อให้ชุมชนและสังคมรอบนอกได้รับรู้ และทีมงานได้ถอดบทเรียน โดยกิจกรรมจะถูกออกแบบขึ้นก่อนแล้วจึงดูว่าเหมาะกับผู้เข้าร่วมอายุเท่าไหร่

ตัวอย่างกิจกรรมของกลุ่มยังยิ้ม

กิจกรรมวันรักนกเงือก ถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ช่วงเดียวกับวันรักนกเงือก คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2547 กลุ่มยังยิ้มจัดกิจกรรม พาผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปเรียนรู้บ้านของนกเงือก ถิ่นอาศัยพื้นที่ทำรัง บทบาทของนกเงือกในธรรมชาติ จากนั้นมาสนุกกับศิลปะที่เกี่ยวกับนกเงือก ชมสารคดี ร่วมเวทีเสวนาเกี่ยวกับนกเงือก เพื่อให้ทุกคนได้รู้จัก ทำความเข้าใจ และช่วยกันอนุรักษ์นกเงือกและธรรมชาติที่สวยงาม

บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้

  1. กระบวนการจากต้นทุนชุมชน
  2. ซัมเริ่มต้นสำรวจต้นทุนที่มีก่อน คือ ในพื้นที่มีทรัพยากรอะไรบ้าง ด้วยความคิดที่ว่า หากไม่รู้จักพื้นที่ดี เราจะไม่สามารถแนะนำหรือชักชวนให้คนนอกเข้ามารู้จักและเรียนรู้กับเราได้ ซัมชวนเด็ก ๆ ไปรู้จักป่าฮาลา-บาลา รู้จักชุมชน วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มีมากว่า 120 ปี ก่อนจะนำเครื่องมือการทำพื้นที่เรียนรู้จากเพื่อนเครือข่ายและเพื่อนฝูงที่ทำงานด้านต่าง ๆ  มาบูรณาการเป็นกิจกรรมให้เด็ก ๆ เข้ามาเรียนรู้

  3. เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ด้วยความไว้ใจของชุมชน
  4. แรกเริ่มที่ยังไม่มีใครเข้าใจว่ากลุ่มยังยิ้มเป็นใคร ทำอะไร คนในชุมชนต่างคิดกังวลไปว่า หนุ่มสาวที่รวมตัวกันจะนำไปสู่การมั่วสุมยาเสพติด หรือการก่อตั้งขบวนการอะไรหรือไม่ พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะกลัวหากลูกมาเข้าร่วมกิจกรรม ซัมจึงเข้าไปทางโรงเรียนเพื่อแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จัก และชักชวนโรงเรียนเข้าร่วมกิจกกรมกับยังยิ้ม บางครั้งกลุ่มยังยิ้มก็เข้าไปจัดกิจกรรมในโรงเรียน เมื่อครูและเด็กได้รู้จักและเปิดใจให้ พ่อแม่ผู้ปกครองก็เริ่มสบายใจมากขึ้น เพราะสำหรับพ่อแม่แล้ว โรงเรียนเป็นสถานที่ที่พวกเขาให้ความไว้วางใจที่จะฝากลูกไว้ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองในฐานะคนในชุมชน เมื่อพูดต่อกันปากต่อปาก ประกอบกับเห็นผลงานของกลุ่มยังยิ้มตลอด 10 ปี  ทำให้ปัจจุบัน คนในชุมชนไว้วางใจให้ลูกหลานมาเข้าร่วมกิจกรรมและอยู่กับกลุ่มยังยิ้มเสมอ

  5. ความยากในการทำบัญชีโครงการ
  6. เป็นเรื่องปกติของการทำโครงการ คือการจัดการบัญชี เราจะต้องจัดการบัญชีให้เป็นระเบียบและเป็นไปตามหลักการและเงื่อนไขของแต่ละแหล่งทุน เช่น ต้องใช้ใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีในการเบิกจ่าย ซึ่งพื้นที่อำเภอแว้งที่เป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ ทำให้มีความยากอยู่บ้างในเรื่องการเบิกจ่าย เพราะการจับจ่ายใช้สอยบางอย่าง ร้านค้าไม่สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้ จึงต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การเบิกค่าน้ำมัน ทีมงานต้องขับรถไปเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ในต่างอำเภอที่สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้ เป็นต้น  ซัมจึงมองว่าหากมีวิธีการที่เหมาะสมกับการทำงานในพื้นที่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะอำเภอเล็กหรือห่างไกลเพียงใด น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากวันนี้ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ อุปสรรคหรือปัญหาที่เจอจะเป็นเหมือนอีกความท้าทายให้เราได้เรียนรู้การบริหารจัดการเหมือนเช่นปัญหาอื่นๆที่ผ่านเข้ามา เราเพียงแค่ปรับตัวและแก้ไขไปตามสถานการณ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

หลุมพรางที่อยากบอก

ซัมเพิ่งได้ค้นพบโลกของความจริงในโลกปัจจุบันว่ามีหลายอย่างที่จะต้องยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง เช่น เราไม่สามารถบอกให้เด็กไปกอดต้นไม้เพื่อจะรักต้นไม้ได้ เพราะเด็กไม่รู้สึกจริง ๆ  เราไม่จำเป็นต้องสอนเด็กเรียนรู้การหุงข้าวจากหม้อสนามอีกต่อไปแล้วเมื่อเขามีหม้อหุงข้าว ซัมเคยเป็นหนึ่งคนที่คิดว่า “ทำไมเด็กเดี๋ยวนี้ติดมือถือ” แต่สุดท้ายซัมก็เรียนรู้ว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าตามโลกไม่ได้เลย หากเราไม่ยอมรับความจริง ซัมจึงเปลี่ยนจากการห้ามนำโทรศัพท์เข้ามาในค่าย เป็นคิดค้นกิจกรรมที่ทำให้มือถือซึ่งเด็กถือทุกวันได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น ถ่ายเปลือกต้นไม้ดูความแตกต่าง หรือ รู้จักพรรณไม้ผ่านการแสกนรูป เป็นต้น

ซัมบอกถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจจะสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ผ่านงานของกลุ่มยังยิ้มที่พาไปเรียนรู้ธรรมชาติและวัฒนธรรมว่าให้ทำพื้นที่ของเราให้ดียิ่งขึ้น เติมเต็มให้ชุมชน โดยไม่ละเลยสิ่งดีงามที่ชุมชนมีอยู่

image

Related Content

📚
สิริเมืองพร้าว พื้นที่เรียนรู้ ดูแลชุมชน
🌏
สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ พื้นที่เรียนรู้ให้วัยรุ่นหมุนโลกด้วยตัวเอง
🌳
ให้ชุมชน วัฒนธรรมและป่าเป็นทุนของการเรียนรู้ กับบ้านไร่อุทัยยิ้ม
🥾
Feel Trip พื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง
🕊️
พาเด็กและเยาวชนไปรู้จักและรักแว้ง กับกลุ่มยังยิ้ม
🎸
คลองเตยดีจัง พื้นที่พัฒนาทักษะสู่อนาคตที่สดใส
🍃
กลุ่มใบไม้ แหล่งติดตั้งสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน
🪢
พลังโจ๋ พื้นที่เรียนรู้ของเด็กหลังห้อง
🧸
โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ พื้นที่พัฒนาทักษะผ่านการเล่น
🤍
Life Education พื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนามนุษย์ให้งอกงามจากภายใน