สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ ค่ายพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านกระบวนการละครและกิจกรรมที่ให้เด็กลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตัวเอง
จุดเริ่มต้นของสำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ
อ๊อด ทองแสง ไชยแก้ว ผันตัวจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม มาเป็นผู้บริหารสำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบรุ่นที่ 2 องค์กรที่ทำงานมาแล้วกว่า 22 ปี และเป็นพื้นที่เรียนรู้มากว่า 16 ปี อ๊อดเริ่มต้นเหมือนเด็กกิจกรรมทั่วไป คือการเข้าร่วมค่ายตลอดจนทำค่ายให้คนเข้า จนได้มารู้จักกิ่งก้านใบ ในช่วงที่ว่าง พี่ ๆ พาไปเล่นละครเร่ ขยับมาเป็นคนนำกระบวนการเล็ก ๆ ได้เจอกับเด็กและเยาวชน จากนั้นเริ่มรับผิดชอบฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายสถานที่ พอดูแลฝ่ายได้ 2-3 ปี เริ่มมารับผิดชอบกิจกรรมใหญ่ ต่อมารับดูแลโปรเจกต์ จากนั้นก็ทำโปรเจกต์มาตลอด 7-8 ปี โดยเป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับการศึกษาบนฐานชุมชน ซึ่งเป็นความสนใจของอ๊อด เพราะมีความสงสัยต่อการศึกษาของรัฐไทยที่ไม่เขียนความจริงให้เรียน เหมือนเช่นที่ได้เรียนจากปราชญ์ชาวบ้านหรือจากการทำงานกับชุมชน โปรเจกต์การสร้างพื้นที่เรียนรู้จึงตอบความฝันนี้ของอ๊อด
สำหรับอ๊อดและกลุ่มกิ่งก้านใบมีเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปี มีเด็กเข้าร่วมกิจกรรม 1,000 คน ภายใต้เครื่องมือและพื้นที่ที่สนับสนุนการเติบโตของเขา และประมาณ 20% ของเด็ก ๆ สามารถสร้างอาชีพได้จากทักษะที่พัฒนากับกิ่งก้านใบ และอย่างน้อยที่สุดคือเด็ก ๆ รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ให้ตัวเอง
กระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนเติบโตจนสามารถสร้างอาชีพได้
สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ ทำงานควบคู่ไปพร้อมชื่อ “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” ที่ดำเนินการโดยทีมงานชุดเดียวกัน เพื่อที่จะบรรลุวิสัยทัศน์เดียวคือ ทำให้ “อุตรดิตถ์เป็นเมืองของการเรียนรู้ เมืองของการสร้างสรรค์” โดยอุตรดิตถ์ติดยิ้มจัดเทศกาลและดูแลโปรเจกต์วัยรุ่นหมุนโลก ส่วนสำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบดูแลงานค่าย อบรมพัฒนาศักยภาพและทำกระบวนการละคร รวมถึงเป็นเลขาของเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่อุตรดิตถ์ด้วย โปรเจกต์วัยรุ่นหมุนโลก ถือเป็นโปรเจกต์ที่สะท้อนความเป็นกิ่งก้านใบที่ถนัดเรื่องการทำพื้นที่เรียนรู้และกระบวนการละคร และตอบเป้าหมายการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตได้อย่างดี กิจกรรมวัยรุ่นหมุนโลก สำหรับวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เป็นค่าย 3 วัน มีเป้าหมาย 3 ข้อ คือ 1) เด็กมีวิธีการจัดการรับมือปัญหาในชีวิตตัวเอง 2) เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และ 3) เด็กมีความเข้าใจเรื่องการจัดการเอกสารรายงาน โดยมีลำดับกิจกรรม ดังนี้
- วันที่ 1 รู้จักและเข้าใจตัวเอง : พาเด็ก ๆ สำรวจความน่ารัก ความภูมิใจในตัวเอง เท่าทันอารมณ์และความต้องการ ทบทวนความทุกข์ที่กำลังเผชิญอย่างละเอียด จากนั้นพาไปหาวิธีก้าวข้ามปัญหาด้วยตัวเอง
- วันที่ 2 ให้เด็กสร้างสรรค์ : เลือก 1 สถานการณ์ในชุมชนที่อยากเปลี่ยนแปลง วาดภาพการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น วาดภาพสิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นจริง จากนั้นเลือกกิจกรรมที่จะทำตามเกณฑ์ 1. เป็นตัวเอง 2. ดีกว่าเก่า 3. ตอบเป้าหมาย (ให้ตั้งเป้าหมายก่อน) 4. ทำได้จริง (มีศักยภาพที่จะทำได้จริง) แล้วนำเสนอให้ทุกคนในค่ายรับรู้และช่วยแนะนำ
- วันที่ 3 เรียนรู้การเงิน : อธิบายเรื่องเอกสารการเงินและวิธีการจัดการ รวมถึงการทำรายงานกิจกรรม เพื่อที่เมื่อไปทำกิจกรรมจริงจะได้ทำเองได้ แม้จะมีพี่เลี้ยงช่วยประกบดูแลด้วยก็ตาม
บทเรียนสำคัญในการทำพื้นที่เรียนรู้
- ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
- การร่วมมือกับผู้อื่น
- ปรับตัวกับวิกฤตที่คาดไม่ถึง
- การวัดผลกิจกรรม
- ทำงานร่วมกันบนความแตกต่าง
ก่อนเริ่มต้นทำงาน กิ่งก้านใบพูดคุยกับเด็กในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มเปราะบางที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายว่าพวกเขาต้องการอะไรบ้าง คำตอบคือ เด็กไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้แสดงออก เพราะฉะนั้นงานของกิ่งก้านใบคือการเป็นพื้นที้ปลอดภัยให้เด็ก ๆ ได้มาสร้างสรรค์และแสดงความเป็นตัวตนของเขาออกมา
2.1. ตอนเริ่มต้น มีเครือข่ายอยากทำเรื่องการเรียนรู้กับกิ่งก้านใบ แต่ยังมีหลายเรื่องที่แต่ละคนไม่เข้าใจ กระทั่งพี่ตั้ม กลุ่มดินสอสี พาไปเรียนรู้หลายเรื่องจนเข้าใจการทำงานด้านการเรียนรู้ จึงต้องยกเครดิตให้พี่ตั้มที่พาขบวนเครือข่ายไปได้ไกล เป็นสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ว่าถ้าเราจะสร้างพื้นที่เรียนรู้ ไม่ใช่การทำด้วยตัวคนเดียวแต่ต้องหาเครือข่ายด้วย
2.2. เดิมทีอุตรดิตถ์ติดยิ้มเคยจัดกิจกรรมในสวนที่มีรั้วล้อม รับเฉพาะคนที่ลงชื่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น จนกระทั่งเข้าสู่ปีที่ 5 ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้ว่าต้องทำงานร่วมกับคนอื่น เช่น ชุมชน กลไกท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยกันพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน กลุ่มกิ่งก้านใบจึงเปิดออฟฟิศอยู่กลางชุมชนและเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ทั้งหน่วยงานรัฐ ราชภัฏ รวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชน ที่ยินดีให้มีคนนอกพื้นที่มาเข้าร่วมกิจกรรม เพราะชาวบ้านค้าขายได้ และพื้นที่สร้างสรรค์ของกิ่งก้านใบทำให้ลูกหลานมีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วย
โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปี 2562 หลายงานต้องหยุดพักเพราะคนไม่สามารถพบปะรวมตัวกันได้ พื้นที่เรียนรู้เองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นกัน เป็นช่วงเวลาให้แต่ละพื้นที่ปรับกิจกรรมและพื้นที่เพื่อให้ยังสามารถทำงานได้ และได้สำรวจตัวเองว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไรบ้าง ยังต้องพัฒนาอะไรอีกบ้าง คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ทำอย่างไรให้พื้นที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แม้ไม่มีแหล่งทุนสนับสนุน หรือต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่ไม่คาดคิดอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุด ตอนนี้ทีมงานก็กำลังเรียนรู้วิธีการขายของ/ผลิตภัณฑ์ และทำธุรกิจ เพื่อให้มีโมเดลแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนต่อไป
กิ่งก้านใบวัดผลกิจกรรมหลายวิธี ได้แก่ แบบสอบถาม บันทึกการเรียนรู้ของเด็กหลังจบกิจกรรม ฟังสิ่งที่เด็กสะท้อนในวง สังเกตพฤติกรรมทั้งในเวลาทำกิจกรรมและอยู่ร่วมกับเพื่อน รวมถึงดูจากการทำงานจริงของเขา ว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมและหลังเข้าร่วมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
แต่ละองค์กรในเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้มีความแตกต่างกัน เช่น ขับเคลื่อนหลากหลายประเด็น วิธีการบริหารที่ต่างกัน หรือมีความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน สุดท้ายเราไม่ได้เปิดวงเพื่อถกเถียงกันเรื่องการเมือง เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว อุตรดิตถ์ยังไม่ไปถึงจุดแตกหักเด่นชัด เรายังทำงานเพื่อเป้าหมายร่วมกันอยู่ ส่วนความคิดความชอบที่ไม่เหมือนกัน เราจะไม่ก้าวก่ายกัน มองเพียงเป้าหมายในการทำพื้นที่เรียนรู้เท่านั้น
หลุมพรางที่อยากบอก
หากย้อนเวลากลับไปในช่วงเริ่มต้นการทำงานได้ อ๊อดมีเพียงคำเตือนให้หาเวลาอ่าน ดู หรือฟังสื่อต่างๆมากขึ้น เพื่อเรียนรู้โลกกว้าง จะช่วยทำให้พัฒนาตนเองและองค์กรได้ นอกจากนี้คือการลงมือทำ โดยเฉพาะคนที่อยากเริ่มต้น ให้ “ทำเลย วิธีการมันอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ อยากทำแบบไหนก็ทำเถอะ ถ้าทำด้วยสิ่งที่เรารัก เดี๋ยวมันก็พาไปเจอสิ่งที่มันเป็นเราเอง”