พลังโจ๋ เปิดพื้นที่สำหรับเด็กหลังห้องให้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในแบบของตัวเอง เพื่อไปถึงเป้าหมายชีวิตที่ต้องการ
จุดเริ่มต้นของพลังโจ๋
แอน ปาณิศา อายะนันท์ และ ตุ้ม รัฐพงษ์ ดวงกุดดั่น ต้องการกลับมาทำงานที่บ้าน ในจังหวัดแพร่ จึงเริ่มจากการเป็นวิทยากรและกระบวนกรเรื่องเอดส์ เพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ตามที่เคยทำงานในภาคเอกชนมา แล้วสังเกตเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่เรียนและดูไม่มีความสนใจอะไร แอนจึงคิดว่าหากเลือกทำงานประเด็นใกล้ตัวเด็กอาจช่วยดึงความสนใจของเด็กได้ดีกว่า เวลานั้นยังไม่มีหลักการหรือทฤษฎีว่าควรเริ่มต้นอย่างไร ซึ่งตุ้ม ที่เคยเป็นเด็กค่ายมาก่อนจึงชวนกันลองทำค่ายอาสา 3 วัน 2 คืน ผลคือค่ายตอบโจทย์วัยรุ่นกลุ่มนี้มาก รวมไปถึงเด็กกลุ่มเสี่ยงคนอื่น ๆ ในพื้นที่ด้วย ในปี 2552 แอนและตุ้มจึงก่อตั้งพลังโจ๋
พลังโจ๋ดูแลน้อง ๆ กลุ่มที่มีพฤติกรรมหลากหลายมานานถึง 13 ปี แม้กิจกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท เวลา และผู้ออกแบบ แต่ลักษณะการอยู่ร่วมกันยังคงเป็น ‘แบบพลังโจ๋’ คือไม่มีพิธีรีตอง มีเพียงกฎกติการ่วมกัน เจอปัญหาร่วมกันแก้ไข ไม่แบ่งแยก ทำอะไรทำด้วยกัน น้องทำพี่ก็ทำด้วย ซึ่งนั่นทำให้เด็กและเยาวชนในการดูแลของพลังโจ๋ยอมเปิดใจพูดคุยกัน แม้ในเรื่องที่เขาไม่อยากพูดถึงมากที่สุด ตรงตามเป้าหมายของพลังโจ๋ที่อยากจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กและวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีที่หลุดออกนอกระบบ และทำให้พวกเขามีทักษะในการใช้ชีวิต
ด้วยผลลัพธ์จากการทำงานกับกลุ่มเยาวชนและความสุขในการได้ทำงานนี้ ทำให้แอนและทีมพลังโจ๋มีแรงขับเคลื่อน เป้าหมายถัดไปคือการเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เด็ก ๆ สามารถหารายได้ดูแลตัวเอง องค์กรมีรายได้ไม่ต้องพึ่งพิงการขอทุนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้พลังโจ๋ยั่งยืนและนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนใน จังหวัดแพร่
กระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและสร้างรายได้
กระบวนการของพลังโจ๋เป็นแบบ Active Learning ให้เด็ก ๆ ที่มีพฤติกรรมหลากหลายได้เรียนรู้จากการลงมือทำและถอดบทเรียน มีกิจกรรมดังนี้
- ค่ายอาสา : เวลา 3 วัน 2 คืน พาเด็ก ๆ ไปทำงานจิตอาสาในชุมชน ทำอาหาร เดินป่าเก็บขยะ เน้นกิจกรรมฐานกายและฐานใจมากกว่าฐานหัว ไม่เน้นวิชาการมาก ให้เขาลงมือทำทั้งปั้น เขียน วาด แล้วปิดค่ายด้วยการถอดบทเรียน หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ หนุนเสริมในสิ่งที่เด็ก ๆ ยังต้องพัฒนา
- พัฒนาเป็นพี่เลี้ยง : แอนชวนเด็กกลุ่มพฤติกรรมหลากหลายมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กปฐมวัย ถึง วัยรุ่นมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียน ในการทำโครงการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานของพลังโจ๋ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในจังหวัดแพร่ให้สามารถทำพื้นที่เรียนรู้และโครงการเพื่อสังคมในประเด็นสร้างเสริมสุขภาวะ เด็กทั้งสองกลุ่มได้รู้จักและเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากการทำงานร่วมกัน
- พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ : พลังโจ๋เป็นพื้นที่ให้เด็กและวัยรุ่นได้ลองใช้ทักษะ ความสามารถที่มีมาสร้างเป็นอาชีพและหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ การทำอาหารคาวหวาน ด้านศิลปะการออกแบบ การจัดทำวิดีโอ การเกษตร หรือการช่าง เป็นต้น โดยพลังโจ๋รุ่นพี่จะพัฒนาทักษะผู้ประกอบการเพื่อประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ส่วนพลังโจ๋รุ่นน้องได้เรียนรู้ทักษะการประกอบกิจการ
ระหว่างเส้นทางการทำงานของพลังโจ๋ 13 ปี เด็กกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงหลายคนเติบโตขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ซึ่งเป็นพลังใจสำคัญให้ทีมพลังโจ๋เดินต่อไป อย่างน้องคนหนึ่งที่เคยออกนอกระบบการศึกษา ทีมพลังโจ๋ช่วยประคับประคองจนเรียนจบปวช. จนปัจจุบันกำลังเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 กลายเป็นต้นแบบให้กับพลังโจ๋รุ่นน้องหลายคนที่กำลังอยู่ในช่วงเวลายากลำบากของชีวิตได้เห็นว่ามีรุ่นพี่ที่สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ สามารถจัดการเรื่องการเรียนได้อย่างราบรื่น และยังเที่ยวเล่นตามประสาวัยรุ่น โดยมีพลังโจ๋เป็นลมใต้ปีก คอยหนุนเสริมดูแลในจุดที่เด็กต้องการ
บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้
- การค้นหากลุ่มเป้าหมายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด
- “เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ในชุมชนที่ไม่ใช่ของเรา”
- การจัดการทรัพยากรสำหรับเด็กกลุ่มพฤติกรรมหลากหลาย
- เข้าใจในความเป็นเด็ก
การเป็นวิทยากรตามโรงเรียนต่าง ๆ ของแอนในช่วงเริ่มต้นทำให้ได้เจอกับกลุ่มเป้าหมายที่สนใจทำงานด้วย ประกอบกับทำงานร่วมกับกลไกชุมชน ทั้งภาครัฐ และคนในชุมชน ทำให้ได้เจอและรู้จักกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เมื่อเด็กหนึ่งคนเข้าร่วมกิจกรรม ก็ชักชวนเพื่อนกลุ่มเดียวกันมาเข้าร่วมด้วย ทำให้กลุ่มพลังโจ๋ขยายใหญ่ขึ้นตามลำดับ แอนเชื่อว่าหากมีกลุ่มเป้าหมายแล้วเราจะทำอะไรที่ไหนก็ได้ ใส่กระบวนการและทรัพยากรบางอย่างให้ กลุ่มเป้าหมายสามารถนำไปพัฒนาในพื้นที่ของเขาได้ เพราะเราไม่ยึดติดพื้นที่ ไม่ว่าจะพื้นที่ไหนก็สามารถเกิดการเรียนรู้ได้
เมื่อตั้งใจว่าจะทำงานกับเด็กกลุ่มพฤติกรรมหลากหลาย เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน แอนเริ่มเข้าหากลไกชุมชน ทำงานกับผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ช่วงเริ่มต้นยากเสมอ เพราะไม่รู้จักใคร จึงใช้วิธีเข้าไปแนะนำตัวว่าเราเป็นใคร ทำอะไร ตั้งใจจะทำอะไรให้เป็นอย่างไร หลังจากนั้นหมั่นสร้างความสัมพันธ์อันดี พูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ นอกเหนือจากเรื่องงาน เพื่อให้อีกฝ่ายเปิดใจมากขึ้น แล้วการทำงานร่วมกันจะราบรื่น
เด็กหลังห้องหรือมีผลการเรียนไม่ดีที่ยากจน ต้องเผชิญสถานการณ์ที่บีบให้เขาอยากออกนอกระบบมากกว่าอยู่ในระบบ เนื่องจากเขาไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการเรียนต่อ รัฐสนับสนุนแค่เด็กที่เรียนเก่ง มีผลการเรียนดีเท่านั้น เด็กหลังห้องที่ไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะกับรูปแบบการเรียนรู้ของตัวเองไม่สามารถสู้ได้ ก็ไม่สามารถได้รับทุนการศึกษา เมื่อไม่ได้รับทุน เขาก็เลือกที่จะออกมาเพื่อทำงานหาเงินเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวดีกว่า ดังนั้นในการสนับสนุนของพลังโจ๋ จะชวนให้น้องมองเห็นความเป็นจริงให้มากที่สุด หากเขามีเงินน้อย ให้เขาใช้น้อย หากเขามีเงินไม่พอ สอนให้เขาหาเงินเป็นจากทักษะความสามารถ หากมีทุนใดของรัฐที่พอจะสนับสนุนได้ก็ใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ทำให้ดีที่สุดตามศักยภาพที่มี
หากกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชน เราต้องเข้าใจว่าเด็กและเยาวชนต้องเติบโต อย่าไปยึดว่าเด็กจะทำงานอยู่กับเราตลอดเวลา การเคลื่อนที่ของเขามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญคืออย่าคาดหวัง เช่น นัด 9 โมงแล้วจะมาครบทั้ง 30 คน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มนี้ ถ้าเราคาดหวังเยอะ จะเจ็บตัวเยอะ ต้องเข้าใจธรรมชาติและวิถีของเขา ว่าเด็กจะอยู่กับเราอย่างมาก 3 ปี แล้วออกจากพื้นที่ไป หรือแม้กระทั่งช่วงปิดเทอม ที่คิดว่าเด็กจะอยู่ในพื้นที่ แต่เด็กกลับออกไปหารายได้เสริม ไปเรียนพิเศษ ไปพื้นที่สร้างสรรค์ในต่างจังหวัด เราก็ต้องวางแผนในช่วงที่ไม่มีกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามาว่าจะทำอะไร
นอกจากนี้ แอนกล่าวว่า ปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กนอกระบบมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน รากปัญหาลึกขึ้น ซับซ้อนกว่าที่เคยเห็นมาตลอดสิบกว่าปีที่ทำงานมา นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา ตัวเลขของปัญหาสูงขึ้นในทุกมิติ และสิ่งที่สวนทางกันคือเด็กที่มีปัญหาอายุน้อยลงเรื่อย ๆ
หลุมพรางที่อยากบอก
แอนอยากเตือนตัวเองในปัจจุบัน ให้นิ่ง แล้วค่อย ๆ แจกแจงงานที่มีจำนวนมากให้น้อง เพราะความท้าทายตอนนี้คือการบริหารองค์กร ปั้นแกนนำขึ้นมาจัดการต่อและให้น้อง ๆ สนุกกับการคิดกิจกรรมเหมือนที่แอนเคยสนุกมา มองให้รอบด้านมากขึ้น และฝึกฝืนทำบางอย่างที่ไม่ชอบแต่จำเป็นและสำคัญ
คนที่อยากทำพื้นที่เรียนรู้ ให้รู้ไว้ว่าประเด็นในการทำพื้นที่การเรียนรู้กว้างมาก หากถนัดประเด็นไหน อยากทำประเด็นไหน ทำให้สุดทาง อย่าคิดว่า “ทำไม่ได้” พื้นที่เรียนรู้มีร้อยแปดพันเก้า แต่ให้มันมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจของเรา ถ้าทำแล้ว 1 คนเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็ได้สร้างคุณค่าบางอย่างแล้ว จะมากน้อยแค่ไหนมันสะท้อนกลับมาเป็นคุณค่าของเรา ความสุขของเรา มันอาจจะเล็กน้อยมาก แต่ก็ทำให้เราเผลอยิ้มมุมปากได้ แค่คิดและลงมือทำ มันก็เป็นการสร้างคุณค่าให้กับเราเอง