จุดเริ่มต้นของบ้านไร่อุทัยยิ้ม
ป้าโก้ สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ เคยทำงานด้านการศึกษาและวัฒนธรรมที่กรุงเทพ ป้าโก้จึงคลุกคลีกับเด็ก ๆ ก่อนจะมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรด้านการฟื้นฟูผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านไร่ ชุมชนบ้านสะนำ จังหวัดอุทัยธานี ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ลูกชายของป้าโก้จบประถม 6 ครอบครัวจึงตัดสินใจย้ายออกจากกรุงเทพเพื่อมาอยู่ติดป่าที่บ้านไร่
ช่วงแรกที่ย้ายเข้ามาที่บ้านไร่ ป้าโก้ต้องการจะทำงานชุมชนแต่ไม่รู้จักพื้นที่ในชุมชน จึงได้ขอทางอำเภอ ทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนวัดสะนำ จนได้ชั่วโมงว่างมาสอนเด็ก ๆ ชั้นประถม 4-6 และมัธยม 1-3 ด้วยลักษณะของโรงเรียนวัดสะนำที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เด็กในโรงเรียนก็เป็นเด็กชาติพันธุ์ ไม่ได้รับโอกาส บางคนก็เกเร แต่พวกเขาเป็นคนในชุมชน อยู่ในพื้นที่ ป้าโก้จึงจัดกระบวนการในคาบว่างให้เด็ก ๆ พาป้าโก้ไปเรียนรู้ชุมชน ในคาบเรียนนั้นที่ป้าโก้ได้เป็นนักเรียน ได้รู้ว่าชุมชนบ้านไร่มีความรุ่มรวยซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะด้านดนตรี การทอผ้า อาหาร ขนม และประเพณีและวัฒนธรรมของชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่บ้านไร่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
ในขณะที่ผู้ใหญ่ในบ้านไร่สืบสานวัฒธรรมลาวด้วยการจัดกิจกรรมตามเทศกาลและวันสำคัญตามประเพณีอย่างต่อเนื่อง แต่เด็กไม่มีพื้นที่ในการเข้าไปมีส่วนร่วมและเรียนรู้วัฒนธรรมของตนเองเลย ป้าโก้จึงได้ขอพื้นที่ทำกิจกรรมและได้ที่ทิ้งขยะมาปรับทำบ้านดินเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็ก จากนั้น ป้าโก้ใช้ ‘ซองผ้าป่าดิน’ เป็นการประกาศและชวนคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม กระทั่งได้รับการสนับสนุนโดยคนในชุมชนที่เข้ามาใส่ซองผ้าป่าดิน และท้องถิ่นนำดินมาสมทบ จากนั้น เด็ก ๆ ก็ช่วยกันออกแบบและสร้างบ้านดินเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งบ้านหลังนี้ก็มีความสำคัญมากกับชุมชนเพราะเป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นศักยภาพของเด็ก
กระบวนการสร้างการเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมาย
- ศึกษา ‘ของดี’ ในพื้นที่
- ชวนแกนนำเยาวชนคุยเพื่อออกแบบกิจกรรมร่วมกัน
- ทดลองทำกิจกรรมจนได้โมเดลการทำงาน
- สื่อสารกิจกรรม
- วัดผลจากความสุขและการสื่อสาร
- ต่อยอด เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับเป็นผู้ให้
สิ่งแรกที่ป้าโก้ทำคือดูพื้นที่ก่อนว่ามีอะไรที่น่าทำงานด้วยบ้าง โดยจะ ‘ค้นเรื่องราวที่อยู่ในชุมชน’ ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ปีละ 1 เรื่อง ซึ่งของดีที่ว่านั้นไม่ใช่ของหวือหวา แปลกใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ข้องเกี่ยวกับชีวิต และมีคุณค่า “ที่นั่นมีอะไรดีให้ไปเรียนรู้ที่นั่น ไม่ต้องยกไปรวมศูนย์ที่โรงเรียน ที่พิพิธภัณฑ์ หรือไปอยู่ในเมือง”จะเป็นวิถีวัฒนธรรม การกิน-ดื่ม การดูนก คนในชุมชน สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ชุมชน ต้นไม้ยักษ์ ศาลาไม้เก่า หรือการสืบต่อภูมิปัญญาก็ล้วนเป็นของดีและเป็นทุนสำคัญที่ชวนเด็ก ๆ เข้าไปเรียนรู้ ชวนคิดหาคำตอบว่าทำไมต้องไปกินเห็ดบ้านนี้ ทำไมดอกไม้นี้บ้านนี้อร่อย แตกต่างกันอย่างไร ไปเรียนรู้กัน
ป้าโก้มองว่าหากชุมชนรู้ว่าจะจัดการกับของดีของชุมชนอย่างไร จะทำให้สิ่งที่เขามีอยู่ในชีวิตประจำวันสร้างรายได้ ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ก็ได้ ยกตัวอย่าง ศาลาไม้ 100 ปี เป็นศาลาศิลปะลาวเมื่อสมัยร้อยปีก่อน เก่าแก่จนเริ่มจะพุพัง และมีการศึกษาสาเหตุที่ศาลาเรือนนี้มีเสามากมายเป็นเพราะพิธีการในช่วง 100 ปีก่อนที่พระจะเอาเสามาแลกเพื่อสึกออกจากวัด เมื่อทราบถึงคุณค่า ชุมชนก็ช่วยกันรื้อฟื้น จนเด็ก ๆ ได้รู้จักพื้นที่และวัฒนธรรมของตัวเองมากขึ้น ส่วนชุมชนก็ได้พื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นตลาดหรือลานอเนกประสงค์ก็ได้
ป้าโก้มักจะนำโจทย์ไปชวนแกนนำเยาวชน 3-4 คนมาต่อยอดจากสิ่งที่ป้าโก้เห็นว่าสามารถสร้างการเรียนรู้ได้ ด้วยการตั้งวงคุยให้เยาวชนได้ออกความเห็น ตั้งเป้าหมาย ใช้ความสนใจ ความชอบของตัวเอง ร่วมกับประสบการณ์และมุมมองของตัวเองในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ในชุมชนมาออกแบบกิจกรรม เช่น โปรเจกต์อาหารที่แก่นมะกูด เด็ก ๆ เห็นว่าวิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนไปตั้งแต่มีถนนใหญ่ตัดเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้คนชุมชนซื้อของจากนอกหมู่บ้านมากขึ้นเพราะความสะดวก จากแต่ก่อนที่เคยปลูกและทำอาหารเอง ตอนนี้คนในชุมชนก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แถมวัฒนธรรมการกินแบบดั้งเดิมก็เริ่มหายไป เด็ก ๆ จึงคิดไอเดียและรวมกลุ่มวัยรุ่น เพื่อไปชวนผู้เฒ่าผู้แก่มาฟื้นวิธีการกินเดิมให้แข็งแรง
เมื่อได้ไอเดียกิจกรรมมาแล้ว ทีมงานก็สนับสนุนเยาวชนในการทดลองทำจริงตามแผนและเป้าหมายที่ช่วยกันตั้ง จากตัวอย่างโปรเจกต์อาหารที่แก่นมะกูด ปัจจุบันเด็ก ๆ ได้โมเดลการทำงานออกมาเป็น ‘ครัวกะเหรี่ยง’ ที่จะจัดชวนคนมาเรียนรู้วิถีชีวิตและเรื่องราวด้านอาหารในทุกวันเสาร์ สร้างคุณค่าในการกินแบบดั้งเดิมแล้วยังลดค่าใช้จ่ายด้วย
ทีมบ้านไร่อุทัยยิ้มต้องการให้มีการสื่อสารในทุกกิจกรรมที่เด็กได้ทำ โดยจะบ่มเพาะให้เด็กไปเล่าเรื่องของตัวเอง แบ่งผู้รับสารเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) เยาวชนในชุมชน เพื่อให้เด็กกลุ่มอื่นที่ยังไม่ได้ร่วมกิจกรรมเข้าใจสิ่งที่มีในชุมชน เห็นเพื่อนในชุมชนทำของ ขายของ เพื่อให้พวกเขาตั้งคำถามกับการพัฒนาทักษะของตัวเอง และอาจจะเข้าร่วมกิจกรรมกับทางบ้านไร่อุทัยยิ้ม และ 2) นอกชุมชน เพื่อเสริมพลังให้กับเด็ก ๆ ที่ทำงานและคนในชุมชนมั่นใจ และสื่อสารเพื่อชวนคนอื่นเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน เช่น ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจและอยากเข้ามาเรียนรู้ในพื้นที่ หรือ สร้างคุณค่าเพื่อหาคนมาร่วมงานในส่วนที่เด็ก ๆ ยังทำเองไม่เป็น เช่น การทำองค์ความรู้สมุนไพร
ทีมบ้านไร่อุทัยยิ้มวัดผลอยู่ 2 แบบ คือ 1) วัดความสุขและความอยากร่วมมือ โดยใช้เครื่องมือที่เป็นแบบฟอร์มและสังเกตว่าเด็กมีความสุขในการเรียนรู้ จากสีหน้า คอยฟังเสียงหัวเราะ และดูว่าความอยากร่วมมือ อยากเป็นส่วนหนึ่งของงานมั้ย และ 2) วัดความเข้าใจและความสามารถในการสื่อสาร โดยสังเกตเด็กว่าสามารถสื่อสารสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมได้ไหม ซึ่งทีมงานจะวัดเพียงเด็กส่วนที่สามารถเล่าเรื่องได้และเล่าอย่างเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำ เล่าได้ว่านี่คืออะไร เป็นมายังไง
ทุกกิจกรรมที่ออกจากกระบวนการของบ้านไร่อุทัยยิ้มจะถูกขยายงาน ไม่ว่าจะเป็นขยายพื้นที่กิจกรรมตลาดไปเป็นทริปเรียนรู้ หรือ ตั้งพื้นที่สืบสานวัฒนธรรมอย่างที่กาดมะกูด ให้เด็กในเมืองที่สนใจงานธรรมชาติเข้ามาเรียนรู้ โดยมีเด็กในชุมชนเป็นผู้เล่า หรือ ต่อยอดจากการค้นหาเรื่องราวในชุมชนปีละ 1 เรื่องเป็นธุรกิจ จากการค้นพบความชอบและทักษะของเยาวชน ยกตัวอย่าง เช่น มีเยาวชนที่สนใจเรื่องสมุนไพรและหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำองค์ความรู้ จนปัจจุบัน มีสปาสมุนไพรป่าที่ดูแลลูกค้าได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า และ ธุรกิจยาหม่องชุมชน เป็นต้น
ปัจจุบัน บ้านไร่อุทัยยิ้มมีทีมงานอยู่ 6 คน โดยมีป้าโก้ดูแลส่วนบริหารและหาทุน ลุงเบ้ ปุณพจน์ ศรีเพ็ญจันทร์ เป็นมันสมองในการคิดและทำกระบวนการ และมีคนรุ่นใหม่อีก 4 คนทำหน้าที่ประสานงานในชุมชน ทำสื่อ จัดการระบบการสื่อสาร ทำเพจ และดูแลทีม โดยมีงบจากขอทุนและการขายของ ในแต่ละปีจะทำงานกับเด็กในชุมชนตั้งแต่ชั้นประถม 4 ถึงมัธยม 6 ไม่เกินรุ่นละ 30 คน และนอกจากพื้นที่เรียนรู้ที่บ้านไร่ ป้าโก้ก็ได้ขยายงานไปทำในพื้นที่อื่น อย่างที่แก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
บทเรียนสำคัญของการทำพื้นที่เรียนรู้
- พื้นที่เรียนรู้ชุมชนจะสำเร็จ คนทำต้องมีสายตาที่มองออกว่าชุมชนนี้มีอะไร
- พื้นที่ที่เด็กจะได้รู้จักเรื่องราวของชุมชนตัวเองเป็นการเรียนรู้ร่วม ไม่ใช่แบบเดี่ยว
- ทำงานชุมชน ต้องช่วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำความเข้าใจงานของเรา
- ฐานการเรียนรู้เดิมแต่บริบทเปลี่ยนไปตลอด ทีมงานก็ต้องออกแบบตาม
ไม่ว่าเราจะเป็นคนในชุมชนเอง หรือจะเป็นคนนอกชุมชนก็ตาม ป้าโก้มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำพื้นที่เรียนรู้ คือ คนทำต้องมีต้นทุนในการเข้าใจในชุมชน เข้าอกเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย หรือมีประสบการณ์การทำงานเชิงพื้นที่มามากพอ ที่จะรู้ว่าชุมชนมีของดีอะไรที่สามารถต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ป้าโก้มองว่าหากเราเข้าใจชุมชน มีโจทย์ที่ชัดเจน ก็จะพบสิ่งที่มองของดีออก เพียงแต่ต้องรู้ก่อนว่ามีอะไรอยู่บ้าง แล้วค่อยออกแบบกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วม จากการร่วมกันคิด ร่วมทดลองทำ จนเด็กมีศักยภาพในการจัดการตัวเองได้ เกิดความเข้มแข็งของรากเหง้า และจะคุณค่าก็ถูกสื่อสาร
ป้าโก้เล่าว่าความสำเร็จของบ้านไร่อุทัยยิ้ม คือ การที่เด็กนำความรักในชุมชนและกระบวนการความคิดกลับไปสู่ครอบครัว พ่อแม่ก็นำไปสู่ชุมชน ส่งต่อถึงผู้นำชุมชน จนหลาย ๆ โครงการของบ้านไร่อุทัยยิ้มได้รางวัลระดับประเทศ ส่งให้คนทั่วประเทศลุกขึ้นมาเล่าเรื่องของตัวเอง เล่าเรื่องวัฒนธรรมที่เคยเป็น ‘ชนกลุ่มน้อย’ ด้วยความภูมิใจว่าอาหารของเราเจ๋งมาก สิ่งนี้บ่งบอกถึงความเป็นลาว ความเป็นกระเหรี่ยง เกิดเป็นคุณค่า ความงาม เป็นหลักฐานว่าเด็กกับวิถีชุมชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนได้จริง
ไม่ว่าเราอยากจะทำงานพื้นที่กับเด็กแค่ไหนก็ไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่ทำกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง โรงเรียน ชาวบ้าน รวมถึงผู้นำท้องถิ่น ที่บางคนอาจจะไม่เข้าใจงานที่เราทำ แต่เขามีอำนาจที่จะทำให้งานของเราไม่สามารถดำเนินได้ ดังนั้น เราต้องหาวิธีการและเผื่อพลังงานไว้ทำให้คนที่ไม่เข้าใจเห็นและเข้าใจ เพื่อให้เขารู้ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน หากเขาเห็นว่าเราทำให้ลูกหลานของเขา เขาก็จะมาหนุนเสริม แต่หากเขาไม่สนับสนุน ไม่ขยับงานต่อจากงานเรา ก็ต้องหาวิธีการใหม่ ๆ และเสริมพลังอีกชุด เพื่อให้ชุมชนไปด้วยกันพร้อมกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายในแต่ละปี กระบวนการก็ต้องสร้างการเรียนรู้ตามระดับความสามารถของเด็กกลุ่มนั้น ๆ บางรุ่น 80% เป็นเด็กพิเศษ เป็นเด็กจีเนียส ก็จะไม่สามารออกแบบกิจกรรมได้อย่างเด็กรุ่นอื่น ต้องใช้ศิลปะมาช่วย ปั้นดิน เราในฐานะผู้จัดกระบวนการก็เรียนรู้อยู่เสมอ ต้องอดทน โอบอุ้มเขาเป็น ซึ่งผลก็ออกมาตอนท้าย จากเด็กที่ต้องกินยาตลอดเพื่อให้เขาทำงานได้ ตอนนี้เขาก็ไม่ต้องพึ่งพายามาก และสามารถปั้นดินได้สวยงามและมีความละเอียด ภาพวาดก็สะท้อนตัวตนของตัวเองออกมา อย่างเด็กเกเรียน เขาไม่ชอบห้องเรียน เราก็พาเข้าป่า เพราะวิถีชีวิตของเขาคือสำรวจป่า ก็ชวนเขามาเป็นไกด์ และอย่างรุ่นล่าสุด รักการทำเพื่อชุมชนมากแต่ไม่มีความสามารถเลย ก็ต้องปรับให้เสริมทักษะเป็นหลัก
หลุมพรางที่อยากบอก
- พื้นที่เรียนรู้มีชีวิต อย่าคิดว่าที่ทำไปมันโอเคแล้วสำเร็จแล้ว
- การพัฒนาเด็กต้องทำให้ชัดเจน เป็นขั้นตอน สามารถส่งต่อรุ่นสู่รุ่น
พื้นที่เรียนรู้จริง ๆ จะต้องเกิดการมีส่วนร่วมได้จริงไปตลอด เป็น Active Learning เสริมความรู้ ความสามารถ หรือ ฝากเรื่องราวให้ขบคิด ไม่ใช่หมดการเรียนรู้ตอนเดินออกจากพื้นที่ และเช่นเดียวกับพื้นที่เรียนรู้ คนทำพื้นที่เรียนรู้ก็ต้องเรียนรู้ไปได้ตลอดชีวิตด้วย อย่างตอนเราได้รู้เรื่องผ้า เราก็จะถูกพาไปรู้จักอาหารต่อ รู้เรื่องสิ่งแวดล้อมต่อ การเรียนรู้ไม่มีวันจบ
อย่าทำเป็นแค่กิจกรรม แต่ต้องทำให้มันเป็นสื่อสาร บอกต่อการเรียนรู้ต่อเนื่องได้ ต้องเป็นพื้นที่ที่เล่นได้เรียนรู้ได้ตลอดเวลา ฉะนั้น คุณต้องรู้จักพื้นที่จริงๆ ว่ามันมีอะไรดี และรู้ว่าจะสร้างการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมได้ยังไง และสุดท้าย ต้องฟังพื้นที่ให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้น เมื่อเราออกมา เขาก็ทำต่อเองไม่ได้ และที่ทำมาก็จะเสียเปล่า